ขณะที่ประชาชนประสบภัยน้ำท่วมดินโคลนถล่ม ทั้งรัฐบาล ภาครัฐ เอกชน และจิตอาสากำลังกอบกู้วิกฤติเต็มสรรพกำลัง โดยเฉพาะหลังน้ำลดได้ทิ้งความเสียหายไว้มหาศาล ทั้งระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า บ้านเรือน แถมยังทิ้งโคลนหนาตึบไว้ ต้องล้างบ้านกันยกใหญ่ ดังนั้น จึงได้เห็นทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันบรรเทาความเดือดร้อน
ในทางการเมืองทำให้คะแนนพรรคเพื่อไทยกลับมาไม่น้อย เพราะช่วยเหลือได้ทันท่วงที เหตุการณ์กำลังไปได้สวย แต่ไม่ทันไร จู่ๆรัฐบาลก็จุดกระแสประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญและยกร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมา คราวนี้ประชาชนหันหลังกลับมาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำ ว่าไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำเรื่องนี้ในช่วงนี้เพราะการเยียวยาผู้ประสบภัยสำคัญที่สุดในตอนนี้
รัฐบาลจึงถอยกรูดไม่เป็นท่า โดยสัปดาห์ที่แล้ว “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณชัดเจน “ขอโฟกัสเรื่องเกี่ยวกับการช่วยเหลือพี่น้องในภาคเหนือ อีสานก่อน” ส่วนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญพักไว้ไม่มีกำหนด ซึ่ง ต่อมาฝ่ายรัฐบาลในสภาเด้งรับลูกถอนร่างรัฐธรรมนูญออกจากสารบบ
ขณะเดียวกันพรรคร่วมรัฐบาลก็ประสานเสียงไม่เห็นด้วยที่จะแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรม โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยที่ตอนนี้เป็นตัวแปรสำคัญ ขืนทำ “ภูมิใจไทย” ไม่พอใจขึ้นมา รัฐบาลจะลำบากในการขับเคลื่อนนโยบายอื่นๆ หากขู่ถอนตัวอาจทำให้เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอน
ค่ายน้ำเงินกดปุ่ม…เกมขวางแก้รัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า “ภูมิใจไทย” จะขวางการแก้รัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง เห็นได้จากการกดปุ่มเล่นเกมในวุฒิสภา ขวางการแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งก่อนหน้านี้สภาผู้แทนราษฎรเห็นพ้องต้องกันทุกพรรคการเมือง ให้ใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากธรรมดาในการทำประชามติเรื่องๆต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่แล้วในการประชุมสองนัดสุดท้ายของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการทำประชามติ วุฒิสภา มีการกลับลำเกิดขึ้น ภายหลัง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ “ขบวนการสีน้ำเงิน”ในวุฒิสภา ก็ทำงานเด้งรับทันควัน
เหมือนกับที่ “นันทนา นันทวโรภาส” สว. ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย แฉกลางที่ประชุมวุฒิสภาขณะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ถึงการล็อบบี้ในชั้นกมธ ว่าการกลับมติของ กมธ. ในวันที่ 25 ก.ย. ทั้งที่ก่อนหน้านั้นกมธ.ได้ลงมติในทิศททางเดียวกัน และปฏิเสธคำแปรญัตติของพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ที่เสนอให้ใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นในเรื่องรัฐธรรมนูญ การกลับลำเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีใบสั่ง เพราะเมื่อวันที่ 24 ก.ย. นั้น มีหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แน่นอนว่าเมื่อเริ่มก่อหวอดตั้งแต่ชั้นกมธ. ในที่ประชุมวุฒิสภาที่ “สายสีน้ำเงิน” ควบคุมเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ย่อมต้องโหวตตามใบสั่ง ยืนตามที่คณะกมะ.แก้ไขมา 167 เสียง ไม่เห็นชอบเพียง 19 เสียง
กระบวนการต่อไปคือ ทางวุฒิสภาจะต้องส่งร่างกฎหมายนี้กลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สภาฯพิจารณาอีกครั้ง หากทางสภาฯยืนยันจะเอาตามร่างของสส. จะต้องมีการตั้งคณะกมธ.ร่วมกัน เพื่อหาข้อสรุปถึงหลักเกณฑ์ที่จะใช้ในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ ควรเป็นอย่างใด ระหว่าง “เสียงข้างมากธรรมดา” หรือ“เสียงข้างมาก 2 ชั้น”
ลุ้น “เพื่อไทย” ยอมกลืนเลือด ถูกด่าสองเด้ง
คราวนี้ จึงต้องจับตาว่า “พรรคเพื่อไทย” และพรรคการเมืองอื่นจะมีความคิดเห็นเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง แต่ต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้ เรื่องหลักเกณฑ์ประชามติ “ทุกพรรค” เห็นตรงกันใช้เสียงข้างมากธรรมดา ถึง400กว่าเสียง ถ้าหากต้องการเปลี่ยนย่อมต้องมีเหตุผลเพียงพอที่จะอธิบายต่อสังคม
สำหรับพรรคเพื่อไทยเรื่องนี้อาจลำบากกว่าใครเพื่อน เพราะในฐานะแกนนำรัฐบาลจะต้องบริหารและเจรจาประนีประนอม รอบนี้ “ภูมิใจไทย” ตัวแปรสำคัญของรัฐบาล ทุบโต๊ะต้องการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การโหวตรัฐธรรมนูญให้เป็นแบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น
เกมนี้ถือว่า “ภูมิใจไทย” แต้มไพ่เหนือกว่า และหากมองลึกๆจะพบว่า “เพื่อไทย” ไม่ได้มีทางเลือกอะไรมากนัก อะไรที่ยอม “สีน้ำเงิน”ได้ ก็อาจต้องทำ
เพื่อแลกกับการอยู่ต่อของรัฐบาลก็ต้องกลืนเลือด และย่อมตกเป็นจำเลยสังคมอีกครั้งในเรื่องการพลิกไปพลิกมา เป็นไม้หลักปักขี้เลน และเป็นอีกรอบที่แสดงให้ประชาชนเห็นว่า “พรรคเพื่อไทย” มีความจริงจัง จริงใจ ที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเหมือนที่หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้มากน้อยเพียงใด
ฉะนั้น บรรดากุนซือเพื่อไทยคงจะต้องโชว์กึ๋นรับมือ “ภูมิใจไทย”
อันที่จริง ถ้า “เพื่อไทย” ไม่เสนอแก้รัฐธรรมนูญแตะดวงใจของ “ภูมิใจไทย” เกี่ยวกับอำนาจป.ป.ช.และองค์กรอิสระอื่นๆ ร่างพ.ร.บ.ประชามติซึ่งเป็นต้นทางของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจผ่านด่านสว.สายน้ำเงินไปได้แล้ว แต่เมื่อแอบดอดยื่นเงียบๆตีคู่ไปกับพรรคประชาชน จึงกลายเป็นสภาพปัจจุบัน
เอาเป็นว่า “สำหรับคอการเมือง” รอเงี่ยหูฟังกันดีกว่าว่า “เขา” จะเกี้ยเซียะยื่นหมูยื่นแมวอย่างไร???
เรื่องโดย เอสเปรสโซ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “อนุทิน” นำคณะลงพื้นที่จ.เชียงใหม่ ฟื้นฟู-ช่วยเหลือชาวบ้านหลังอุทกภัย