ครม. เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (2569-2579) คาด ช่วงปลายแผนงบประมาณในปี 2571 การคลังไทยเผชิญความท้าทาย หนี้สาธารณะไทยจะแตะระดับ 69.3% จากเพดานที่กำหนดไว้ 70%
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (24) เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลางปีงบประมาณ 2569 – 2579 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการคลังของรัฐ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณ โดยมีสาระสำคัญคือคาดการณ์เติบโตเศรษฐกิจและกรอบเงินเฟ้อระหว่างปี 2569 – 2572 โดยคาดว่าจีดีพีปี 2569 – 2571 จะขยายตัวในกรอบ 2.3 – 3.3% มีค่ากลางอยู่ที่ 2.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 0.7 – 1.7% ส่วนในปี 2572 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ประมาณ 2.5 – 3.5% มีค่ากลางอยู่ที่ 3% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.8 – 1.8%
ขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง
ทั้งนี้ในแผนการคลังระยะปานกลางของไทยนั้นยังเป็นแผนการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง โดยรัฐบาลพยายามลดการขาดดุลงบประมาณลง และควบคุมให้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ในระดับ 70% ที่เป็นเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ โดยในช่วงปลายแผนงบประมาณในปี 2571 หนี้สาธารณระไทยจะแตะระดับ 69.3% จากเพดานที่กำหนดไว้ 70% โดยมีรายละเอียดของกรอบงบประมาณระยะปานกลางของประเทศดังนี้
ปี 2569 กรอบงบประมาณรายจ่าย 3.78 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 8.6 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณ 4.3% ของจีดีพี ระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณอยู่ที่ 67.3%
ปี 2570 กรอบงบประมาณรายจ่าย 3.86 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 7.6 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณ 3.6% ของจีดีพี ณ สิ้นปีงบประมาณอยู่ที่ 68.5%
ปี 2571 กรอบงบประมาณรายจ่าย 3.97 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 7.2 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณ 3.3% ของจีดีพี ณ สิ้นปีงบประมาณอยู่ที่ 69.2%
ปี 2572 กรอบงบประมาณรายจ่าย 4.09 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 7.0 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณ 3.1% ของจีดีพี ณ สิ้นปีงบประมาณอยู่ที่ 69.3%
การคลังของไทยเผชิญความท้าทาย
ทั้งนี้เป้าหมายและนโยบายการคลังระยะปานกลางของไทยนั้น ครม.รับทราบว่าปัจจุบันการคลังของไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายที่มีความหลากหลายมากขึ้นหลากหลายด้าน ทั้งจากการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ท่ามกลางสถานการณ์ความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและอยู่ในเกณฑ์สูง และการดำเนินการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ทั้งนี้จากการดำเนินนโยบายการคลังทั้งระยะสั้นและระยะยาวดังกล่าว จึงอาจส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ และการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล ก่อให้เกิดภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลางภาครัฐควรมุ่งเน้นการฟื้นฟูสภาพทางการคลังให้กลับสู่ภาวะที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต ภายใต้แนวคิด “Restoring” โดยการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ทั้งในด้านการเพิ่มรายได้อย่างเหมาะสม
สำหรับเป้าหมายการคลังของแผนการคลังยังมีความจำเป็นต้องจัดทำงบฯแบบขาดดุลเพื่อรักษเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และมุ่งปรับลดขนาดการขาดุลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในระยะปานกลาง
สำหรับเป้าหมายในระยะยาวรัฐบาลควรมุ่มสู่การดำเนินนโยบายการคลังอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริหารจัดการได้ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้การคลังของประเทศเข้าสู่จุดดุลภาพ รวมถึงสร้างความคล่องตัวในการรองรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างยืดหยุ่นและเหมาะสมด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : หนี้สาธารณะปี 68 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 66.80% พร้อมไฟเขียวก่อหนี้ใหม่ 1.20 ลลบ.