หมอบุญ และพวก ฉ้อโกงประชาชน หลอกร่วมลงทุนธุรกิจการแพทย์ ยอดความเสียหายอาจพุ่งถึงหมื่นล้านบาท

หมอบุญ และพวก ฉ้อโกงประชาชน หลอกร่วมลงทุนธุรกิจการแพทย์ ยอดความเสียหายอาจพุ่งถึงหมื่นล้านบาท
หมอบุญ วนาสิน ถูกออกหมายจับ พร้อมพวก รวม 9 ราย ฉ้อโกงประชาชน


เป็นคดีที่คนไทยยังคงให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องคดีฉ้อโกงของ นายแพทย์บุญ วนาสิน และพวกรวม 9 ราย มีมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นอยู่ที่ 7,600 ล้านบาท โดยเจ้าตัวเดินทางออกนอกประเทศก่อนถูกออกหมายจับ

หมอบุญ คือใคร ?

นายแพทย์บุญ วนาสิน ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้บริหารของ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG มีธุรกิจในเครืออีกหลายแห่ง ครอบคลุมด้านสุขภาพทั้งในไทยและต่างประเทศ สร้างชื่อเสียงให้กับเจ้าตัวเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นคนแรก ๆ ในไทย ที่บุกเบิกธุรกิจด้านสุขภาพ ปัจจุบันยังคงถือหุ้น THG อยู่ในสัดส่วน 0.68%

จุดเริ่มต้นของการฉ้อโกงที่อาจมีมูลค่าสูงถึงหมื่นล้านบาท

วันที่ 23 พ.ย. 67 มีการแถลงข่าวที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ถึงกรณี หมอบุญ พร้อมพวก รวม 9 ราย ถูกออกหมายจับในคดีฉ้อโกงประชาชน พฤติการณ์คือ ชักชวนให้ทำการลงทุนในธุรกิจการแพทย์ที่น่าสนใจ จำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย

  • โครงการสร้างศูนย์มะเร็ง ย่านปิ่นเกล้า 4,000 ล้านบาท
  • โครงการเวลเนส เซ็นเตอร์ ย่านพระราม 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 4,000-5,000 ล้านบาท
  • โครงการสร้างโรงพยาบาลใน สปป.ลาว 3 แห่ง รวม 2,000 ล้านบาท
  • โครงการเข้าร่วมลงทุนโรงพยาบาลในเวียดนาม 4,000 – 5,000 ล้านบาท
  • โครงการ Medical intelligence จังหวัดชลบุรี งบลงทุน 100 ล้านบาท

โดยให้โบรกเกอร์ติดต่อ ชักชวนนักธุรกิจ นักการเมือง คนมีชื่อเสียง และบุคลากรทางการแพทย์ให้ร่วมลงทุน ในรูปแบบทำสัญญากู้ยืมเงิน โดยให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าปกติ และจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ รวมถึงจ่ายเช็คเพื่อชำระค่าดอกเบี้ยล่วงหน้า ในชื่อ หมอบุญ โดยมีลายเซ็นของอดีตภรรยา และลูกสาว เซ็นสลักหลังเช็ค เพื่อเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญา

ต่อมา ผู้เสียหายพบว่า หมอบุญ ไม่ได้ชำระหนี้ตามกำหนด อีกทั้งเช็คที่ออกไว้ก็ไม่สามารถขึ้นเงินกับธนาคารได้ จึงได้ทยอยเข้าแจ้งความ ในช่วงปี 2566 – 2567 รวมแล้วกว่า 520 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 7,600 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ใช่ตัวเลขสุดท้ายของมูลค่าความเสียหาย

ผู้เสียหายเผยเหตุที่หลงเชื่อ หมอบุญ กับพวก

มาจากการที่โบรกเกอร์ชักชวนและพูดถึงกำไรที่จะได้ โดยอ้างว่าปี 2566 จะได้รับกำไร 700 ล้านบาท และปี 2567 จะได้กำไร 1,000 ล้านบาท

คาดการณ์มูลค่าความเสียหายอาจมากถึงหมื่นล้านบาท

มีการเปิดเผยว่านี่เป็นเพียงผู้เสียหายล็อตแรกเท่านั้น ยังไม่รวมกับผู้เสียหายล็อตที่ 2 ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และผู้เสียหายรายอื่น ๆ ที่ไม่ประสงค์ออกสื่อ เพราะถูกขู่ไว้ว่าหากใครเผยข้อมูลเชื่อมโยงกับโบรกเกอร์จะถูกแจ้งสรรพากรตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ขณะที่บางรายเป็นบุคคลมีชื่อเสียง และขอไม่ให้นำชื่อออกสื่อ

หมายจับหมอบุญ และผู้ร่วมขบวนการ รวม 9 ราย

นอกจาก หมอบุญ ยังมีหมายจับผู้กระทำความผิดร่วมกันอีก 8 ราย โดยขณะนี้จับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว จำนวน 6 ราย คือ

  • จิดาภา อายุ 53 ปี เลขาส่วนตัวหมอบุญ
  • ศิวิมล อายุ 38 ปี ผู้จัดการเกี่ยวกับเอกสารสัญญาต่างๆ และจัดการด้านการเงิน
  • อัจจิมา อายุ 49 ปี เจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ เป็นผู้ชักชวนให้ร่วมลงทุน
  • ภาคย์ อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ ผู้ประสานงานให้คำปรึกษา ชักชวนลงทุน
  • ภัทรานิษฐ์ อายุ 55 ปี เป็นนายหน้าและผู้ชักชวนแนะนำการลงทุน ผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกัน
  • ธนภูมิ อายุ 36 ปี ซึ่งเป็นตัวแทนติดต่อชักชวนผู้เสียหาย เป็นผู้จัดทำสัญญา

ขณะที่อดีตภรรยา จารุวรรณ วนาสิน อายุ 79 ปี และลูกสาวของหมอบุญ นลิน วนาสิน อายุ 51 ปี เดินทางมามอบตัวพร้อมทนาย อ้างว่าไม่มีส่วนรู้เห็น และถูกปลอมแปลงลายเซ็นด้านหลังเช็ค

ส่วน หมอบุญ เดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 29 ก.ย. 67 คาดการณ์เบื้องต้นว่าอยู่ที่จีน ซึ่งทางการไทยจะประสานไปยังทางการจีน เพื่อเร่งติดตามตามตัว

ความผิดของหมอบุญ และพวก

หมอบุญ ถูกออกหมายจับเนื่องจากกระทำความผิด 5 ข้อกล่าวหา

  • ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
  • ร่วมกันให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
  • ร่วมกันฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ
  • สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน
  • ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน

ส่วนอีก 8 คน ถูกออกหมายจับใน 2 ข้อกล่าวหา

  • ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
  • ร่วมกันให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

รู้จักในวงกว้าง จากช่วงโควิด-19 อ้างดีลวัคซีนไฟเซอร์เจ้าแรกในไทย

ในช่วงการแพร่ระบาด โควิด-19 หมอบุญออกมาประกาศเห็นต่างกับรัฐบาล เรื่องวัคซีน mRNA โดยต้องการให้รัฐบาลจัดหาวัคซีน mRNA ให้กับด่านหน้าอย่างบุคลากรทางการแพทย์

ต่อมาได้ทำการประกาศออกสื่อว่า รพ. ธนบุรี เตรียมเซ็นสัญญานำเข้าวัคซีนไฟเซอร์จากเยอรมันนี 20 ล้านโดส โดยเปิดให้จองในล็อตแรก 5 ล้านโดส ทั้งที่ในไทยไม่มีใครสามารถทำได้ จึงทำให้ชื่อของ หมอบุญ เป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่งผลให้หุ้น THG พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จากหลักสิบต้น ๆ ขึ้นไปถึงระดับ 99.5 บาท

แต่ในท้ายที่สุด ก็ไม่มีการนำวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาตามที่กล่าวอ้าง ทำให้องค์การเภสัชกรรม แจ้งความหมอบุญ ในข้อหาสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนำเข้าวัคซีน และตั้งข้อสงสัยต่อหมอบุญว่า “การให้ข้อมูลนี้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือไม่”

ท้ายที่สุด หมอบุญ ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ลงโทษ โดยให้ชำระเงินค่าปรับและชดใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบความผิด เป็นเงิน 2,348,834 บาท และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 42 เดือน จากการให้ข้อมูลเท็จ

อย่างไรก็ตาม หากมีความคืบหน้ากรณีฉ้อโกงของ นพ.บุญ จะทำการรายงานเพิ่มเติมถัดไป

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ พร้อมให้ข้อมูลคดีหมอบุญ หากมีการประสานขอข้อมูล