“ชัชชาติ” หยุดข่าวลือเปลี่ยนตัวรองผู้ว่าฯ คุมงานป้องกันภัย ยังรักกันดี

“ชัชชาติ” หยุดข่าวลือเปลี่ยนตัวรองผู้ว่าฯ คุมงานป้องกันภัย เหตุไม่ยอมดำเนินการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัย​ ชี้ยังรักกันดี

  • หยุดข่าวลือเปลี่ยนตัวรองผู้ว่าฯ
  • ลั่น! ยังรักกันดี

จากกรณีกระแสข่าวนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีความขัดแย้งถึงขั้นตบโต๊ะจะเปลี่ยนตัวรองผู้ว่าฯกทม. เนื่องจากไม่ยอมดำเนินการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร ตามที่นายชัชชาติประกาศผลักดันไว้ในนโยบายหาเสียง จนกระทั่งมีสื่อบางสำนักเฝ้าติดตามโครงการดังกล่าว เนื่องจากมีมูลค่าสูงถึง 3 พันล้านบาท เป็นโครงการต่อเนื่องยาวนานมาร่วม 20 ปี แต่ยังไม่เกิดผลตามแผนโครงการ แม้จะมีการเปิดประกวดราคาผู้ก่อสร้างโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ผู้บริหาร กทม.ในปัจจุบันไม่ยอมลงนามสัญญาจ้าง จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า กทม.ต้องการเปลี่ยนตัวผู้รับเหมาโครงการเป็นรายอื่นหรือไม่
          
ล่าสุด วันที่ 9 กันยายน 2566 ที่สำนักงานเขตลาดพร้าว นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตนกับ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช ยังรักกันดี ไม่มีปัญหาตามกระแสข่าว โดยอธิบายว่า กระแสข่าวเกิดจาก กทม.มีแผนสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร ที่ จ.นครปฐม พื้นที่ติดริมแม่น้ำ ซึ่งเป็นแผนระยะยาวมูลค่ารวมโครงการกว่า 2-3 พันล้านบาท โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 3 ระยะ มีการอนุมัติดำเนินการระยะแรกไปแล้วกว่า 6 ร้อยล้าน ซึ่งเปิดประกวดราคาไปแล้วก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่ง
          
ภายหลังตนเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ได้มีการทบทวนโครงการดังกล่าว เนื่องจากมองว่าศูนย์ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในพื้นที่ กทม. และจากการให้สำนักการโยธาตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้าง พบว่า ตั้งอยู่บนพื้นที่ตามผังเมืองสีเขียวและสีเหลือง ไม่ใช่สีน้ำเงินซึ่งสามารถก่อสร้างหน่วยงานของราชการได้ รวมถึงยังไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากสภากรุงเทพมหานครในการสร้างศูนย์ฝึกฯนอกเขตพื้นที่ กทม.
          
นายชัชชาติ กล่าวว่า จากการทบทวนดังกล่าว พบว่า กทม.ยังมีพื้นที่ในสถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคลกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก ซึ่งเป็นพื้นที่ตามผังสีน้ำเงิน สามารถสร้างหน่วยงานราชการได้ จึงมีแผนย้ายการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมกู้ภัยฯ จาก จ.นครปฐมตามแผนเดิมของผู้ว่าฯกทม.คนก่อน มาดำเนินการที่สถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคลกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก ทดแทน ซึ่งสามารถใช้ที่จอดรถ ห้องประชุม-สัมมนา โรงอาหาร และหอพัก ร่วมกับของเดิมที่มีอยู่ในสถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคลกรุงเทพมหานครได้ เป็นการจัดพื้นที่ให้ทั้ง 2 ศูนย์ อยู่รวมในพื้นที่เดียวกัน
          
ทั้งนี้ แนวคิดจากการทบทวน คาดว่าจะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยรอบพื้นที่สถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคลกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะการจ้างงานเพิ่มเติม รวมถึง หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะสามารถเรียกกำลังดับเพลิงและกู้ภัยเข้าจุดเกิดเหตุได้สะดวกรวดเร็วกว่าอยู่ในพื้นที่ จ.นครปฐม
          
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวที่เกิดขึ้นเนื่องจากโครงการดำเนินการล่าช้าเพราะติดข้อกฎหมายและผังเมือง จึงต้องใช้เวลาทบทวน ไม่ได้มีปัญหากับ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวลชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร โดยปกติตนเป็นคนพูดอย่างคนใจร้อน เช่น ถามว่า เมื่อไรจะเสร็จ แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาการก่อสร้างศูนย์ฝึกดังกล่าวล่าช้าเพราะ รศ.ดร.ทวิดา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการประสานงานต่าง ๆ กับหน่วยงานอื่นประกอบด้วย ยืนยันว่า รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทุกคนทำงานร่วมกันได้ดี ไม่มีปัญหาต่อกัน ตนเชื่อมั่นเพราะเลือกมาเอง
          
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร ตามนโยบายผลักดันการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านการบรรเทาสาธารณภัย ของนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีแผนเดิมสร้างบนพื้นที่ ต.ท่าตลาด อ.สามพราน จ.นครปฐม จำนวนประมาณ 57 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (สปภ.กทม.) ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการออกแบบและประเมินการติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมด ตามสัญญาจ้างเลขที่ 11/2558 วันที่ 10 เม.ย.58 โดยสรุปมูลค่ารวมโครงการทั้งสิ้น 3,460,664,668.67 บาท แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ กำหนดก่อสร้างตั้งแต่ปี 2563 แล้วเสร็จเริ่มเปิดใช้งานในปี 2568 โดยระยะที่ 1 สปภ.ได้รับอนุมัติงบประมาณจากสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 685,300,000 บาท ในปี 2563 จากนั้น สปภ.ได้โอนงบประมาณที่ได้รับให้กับสำนักการโยธาเพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
          
ต่อมาในปี 2564 จากการหารือกับสำนักการโยธา พลตำรวจโทโสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่ากรุงเทพมหานคร) ได้อนุมัติให้สำนักการโยธาปรับแบบก่อสร้างและงบประมาณ เนื่องจากตามแผนเดิม การก่อสร้างอาคารหอพักอยู่ในเขตพื้นที่สีเหลือง (ย.1-ย.8) ตามผังเมืองชุมชนอ้อมใหญ่ จ.นครปฐม ปี 2562 ไม่สามารถสร้างอาคารหอพักได้
          
เมื่อปรับแบบก่อสร้างและงบประมาณเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าสู่การดำเนินการระยะที่ 2 ใน 2565 โดยสภากรุงเทพมหานครอนุมัติงบประมาณเพิ่มอีกจำนวน 1.6 พันล้านบาท สำนักการโยธาจึงเปิดประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยมีบริษัท งามวงศ์วานการช่าง จำกัด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกจากการประกวดราคา ด้วยจำนวนเงิน 634,000,000 บาท กำหนดแล้วเสร็จ 900 วันนับจากทำสัญญา แต่โครงการต้องหยุดดำเนินการในระยะนี้ เนื่องจากผู้บริหารกทม.ชุดปัจจุบันไม่ลงนามจ้างบริษัท งามวงศ์วานการช่าง จำกัด ตามที่ได้เปิดประกวดราคาไปแล้ว และขอให้ทบทวนโครงการใหม่ทั้งหมด ดังนั้น จึงยังไม่มีการทำสัญญาจ้างบริษัท งามวงศ์วาน จำกัด โครงการทั้ง 3 ระยะจึงไม่มีการดำเนินการต่อ