FAO รับรอง “ควายน้ำ” ทะเลน้อย เป็นพื้นที่มรดกทางการเกษตรโลกแห่งแรกของไทย

เกษตรฯมอบใบประกาศรับรอง “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย”เป็นพื้นที่มรดกทางการเกษตรโลกแห่งแรกของประเทศไทย

  • พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก
  • สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่มีความเชื่อมโยงกับควายปลักทะเลน้อย
  • ซึ่งสืบทอดการเลี้ยงควายมาอย่างยาวนานกว่า 250 ปี

นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังได้รับมอบหมายจากนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แทนในการมอบใบประกาศรับรอง “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” เป็นพื้นที่มรดกทางการเกษตรโลกแห่งแรกของประเทศไทย ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ว่า องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) ได้ประกาศให้ “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” เป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร หรือ Globally Important Agricultural Heritage Systems (GIAHS) นับเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย

ทั้งนี้พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก จนได้รับการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ Ramsar site และมีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ FAO ในการเป็นมรดกทางการเกษตรที่เน้นการอนุรักษ์มรดกทางการเกษตรโลก เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และพัฒนาเศรษฐกิจ ปกป้องและส่งเสริมการใช้ทางเศรษฐกิจชีวภาพให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและยั่งยืน โดยบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่มีความเชื่อมโยงกับควายปลักทะเลน้อย ซึ่งสืบทอดการเลี้ยงควายมาอย่างยาวนานกว่า 250 ปี

พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยจะเป็นหมุดหมายระดับโลกที่ร่วมกันทำการศึกษา จัดทำฐานข้อมูล และพัฒนาพื้นที่ โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่าประเทศอื่น ๆ ให้ความสำคัญกับพื้นที่ GIAHS เป็นอย่างมาก เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีพื้นที่ GIAHS จำนวนมากถึง 19 แห่ง หรือ ประเทศญี่ปุ่นที่มีพื้นที่ GIAHS จำนวน 15 แห่ง ยกตัวอย่างพื้นที่ GIAHS ที่เคยสัมผัสมา คือ ไร่ชา จังหวัดชิซูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีระบบการทำไร่ชาที่เรียกว่า “Chagusaba” (ชากุซาบะ) ซึ่งเป็นการปลูกชาตามวัฒนธรรมเก่าแก่ของญี่ปุ่น โดยใช้วัสดุทางธรรมชาติหมุนเวียนในการปลูกชาโดยมีการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีพืชชนิดอื่นและสัตว์ชนิดอื่นเพิ่มขึ้นในระบบการปลูกชา เป็นต้น

ทั้งนี้ พื้นที่ในประเทศไทยต้องการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางการเกษตรโลก คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 460.64 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยและพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีระบบนิเวศสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยสำคัญของสังคมสัตว์และสังคมพืชนานาชนิด รวมทั้งเป็นแหล่งประกอบอาชีพหลักและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนในพื้นที่ โดยเฉพาะอาชีพกสิกรรมแบบดั้งเดิมอย่างการทำนาและเลี้ยงสัตว์

สำหรับ “ควายน้ำ” มีลักษณะเหมือนควายปกติ แต่มีความสามารถในการปรับตัวให้สามารถหากินได้ทั้งในน้ำและบนบกโดยในช่วงฤดูแล้งควายจะหากินเล็มหญ้าบนบกแบบควายปกติ แต่เมื่อถึงฤดูน้ำหลากควายจะปรับตัวดำน้ำกินสายบัว ใบบัว หรือสาหร่ายใต้น้ำ ปัจจุบันควายที่เกษตรกรเลี้ยงในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยเป็นของเกษตรกร ตำบลทะเลน้อย ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และของเกษตรกร ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ประมาณ 3,500 ตัว