“หมอยง” ระบุ ยังไม่พบโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ของอังกฤษในประเทศไทย



  • ชี้ไวรัสจะติดต่อง่ายหรือยาก
  • ขึ้นอยู่กับหนามแหลมยื่นออกมาหรือสไปรท์
  • ต้องมาเกาะติดกับเซลล์บนทางเดินหายใจ

วันที่ 29 ธ.ค.63 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า  โควิด 19 สายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ติดง่ายหรือยาก

การที่ไวรัสจะติดต่อง่ายหรือยาก ขึ้นอยู่กับไวรัสโควิด- 19 มีหนามแหลมยื่นออกมา น้ำแหลมนี้เรียกว่าสไปรท์ จะต้องมาเกาะติดกับเซลล์ในตำแหน่งตัวรับ บนทางเดินหายใจที่เรียกว่า ACE2 ถ้ามีการผันแปรในส่วนเกาะติด ทำให้เกาะติดง่ายขึ้น ก็จะช่วยเสริมการติดต่อ

เราจึงเพ่งเล็งดูพันธุกรรมในส่วนเกาะติด ที่มีการพูดถึงมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโน ในประเทศอังกฤษไนจีเรียแอฟริกาใต้ ทุกคนสนใจว่าจะทำให้เกาะติดได้ง่ายขึ้น รอศึกษาทางลึก

หลังจากเกาะติดแน่นแล้ว ไวรัสจะเริ่มเข้าสู่เซลล์ ในการเข้าสู่เซลล์จะต้องอาศัยกรรไก ในการตัดหนามแหลม ที่เกาะติดแน่นกับเปลือกนอก ไวรัสจะได้หลุดจากการเกาะติด แล้วเข้าสู่เซลล์ได้ การตัดนี้จะใช้เอนไซม์ของมนุษย์ คือ Furin ถ้าตัดได้ง่ายๆ ก็จะเข้าสู่เซลล์ได้ง่าย

ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมให้ง่ายต่อการตัด ก็จะทำให้เข้าสู่เซลล์ได้ตำแหน่งที่มีการเปลี่ยนแปลงของอังกฤษ คือ ตำแหน่งที่ 681 ที่จะเปลี่ยนจากกรดอะมิโน proline ไปเป็น histidine
ฟังดูแล้วจะเข้าใจยากหน่อย

แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ จึงให้ความสนใจสายพันธุ์ของอังกฤษนี้ เพราะสงสัยว่าจะทำให้มีการติดต่อง่ายขึ้น โดยเฉพาะจากการศึกษาทางด้านระบาดวิทยา ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวยังไม่พบในประเทศไทย