สกพอ.ชงเกิดไฮสปีดเทรน จากสนามบินอู่ตะเภา ถึง จ.ตราด



  • คาดเสนอ ครม.ได้ปี 2564
  • คัดเลือกผู้ลงทุนปี 2567 เปิดบริการปี 2571

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เปิดเผยว่า ได้รายงานพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในระหว่างเยี่ยมชมนิทรรศการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ( ครม.สัญจร) ที่จ.ระยอง ว่า ภายหลังจากทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระยะที่ 1 จากกรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี และระยอง รวม9 สถานี ระยะทาง 220 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยสามารถเดินทางจากสถานีมักกะสัน ถึงสถานีอู่ตะเภาได้ภายใน 45 นาที ปัจจุบันได้มีการคัดเลือกเอกชนและร่วมลงนามสัญญาร่วมทุนเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการก่อสร้าง และเปิดให้บริการปี 2567

จากนั้น ในระยะที่ 2 สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่มีเป้าหมายเชื่อมโยงกรุงเทพฯ แบบไร้รอยต่อ เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนที่จะจูงใจนักลงทุนจากต่างประเทศ และเพื่อความสมบูรณ์ของการขนส่งและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และการขนส่งสินค้า ให้เกิดการลงทุนในมิติต่างๆ เชื่อมไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จึงจะมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 เป็นส่วนต่อขยายเพื่อเชื่อมโยงจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด มีระยะทาง 190 กิโลเมตร ซึ่งจะสามารถเดินทางจากสถานีอู่ตะเภาถึงจังหวัดตราดได้ในระยะเวลา 64 นาที โดยขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด และคาดว่าจะนำเสนอ ครม.อนุมัติโครงการได้ในปี 2564 และคาดว่าจะสามารถคัดเลือกผู้ลงทุนได้ในปี 2567 แล้วเสร็จพร้อมให้บริการในปี 2571 ซึ่งจะนำไปสู่โครงการต่อเนื่องคือ โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก เพื่อยกระดับภาคตะวันออกสู่แหล่งผลไม้หลักของภูมิภาค

นอกจากนี้ โครงการต่างๆ จากอีอีซี ที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดระยอง มีทั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซีไอ)ที่จะนำจังหวัดระยองจะก้าวไปสู่ เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ประกอบกับโครองการพัฒนาขนส่งสาธารณะในพื้นที่จังหวัดระยอง ที่จะมีการศึกษาและจัดทำเส้นทางระบบขนส่งมวลชนใน 6 เส้นทางหลัก ที่เชื่อมต่อจากทั้งสนามบินอู่ตะเภาและรถไฟความเร็วสูงเข้าสู่ใจกลางเมืองระยองด้วยฟีดเดอร์ และรถเมล์ไฟฟ้าที่ไร้มลพิษ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับชุมชนเกษตรกร คู่กับอุตสาหกรรมสะอาด อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าจากขยะอาร์ดีเอฟที่จะสามารถกำจัดขยะของเมืองได้ถึง 500 ตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ และเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่พร้อมมีงานรายได้มั่นคงรองรับในอนาคต