รัฐดึง 140 โรงพยาบาลเข้าระบบ 30 บาท รักษาทุกที่

30บาท


รัฐบาล ยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพทั่วประเทศ ” 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” มีผลบังคับใช้แล้ว 140 แห่ง

  • ยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพทั่วประเทศ
  • รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว

วันที่  14 ก.ค. 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นการยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพทั่วประเทศ เปิดรายชื่อโรงพยาบาล 140 แห่ง ซึ่งเป็นหน่วยบริการนอกเวลาราชการ ที่เป็นความจําเป็นของผู้มีสิทธิในหน่วยบริการอื่น โดยมีห้องบริการ แยกจากห้องฉุกเฉิน

ซึ่งสอดรับกับนโยบายปฏิรูปห้องฉุกเฉินของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมเดินหน้าปฏิรูประบบสาธารณสุข ยกระดับโครงการ “30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” สู่ยุคดิจิทัล ด้วยธรรมาภิบาลข้อมูลสุขภาพ
          
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศ สปสช. เรื่อง รายชื่อหน่วยบริการที่ให้บริการนอกเวลาราชการที่เป็นความจําเป็นของผู้มีสิทธิในหน่วยบริการอื่น พ.ศ. 2567 ซึ่งมีการปรับปรุงรายชื่อหน่วยบริการ ที่ให้บริการนอกเวลาราชการ ที่เป็นความจำเป็นของผู้มีสิทธิในหน่วยบริการอื่น

โดยมีห้องบริการ แยกจากห้องฉุกเฉิน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายปฏิรูปห้องฉุกเฉินของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีรายชื่อโรงพยาบาล จำนวน 140 เเห่ง ที่ให้บริการนอกเวลาราชการ เเละมีผลบังคับใช้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบรายชื่อโรงพยาบาลทั้งหมดได้ที่ https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/33539.pdf
          

พร้อมกันนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังได้ยกระดับโครงการ “30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” เข้าสู่ยุคดิจิทัล ด้วยการจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติธรรมาภิบาลข้อมูลสุขภาพ เพื่อเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ

ซึ่งประกอบด้วย 1. จัดทำแนวปฏิบัติธรรมาภิบาลข้อมูลสำหรับหน่วยบริการทั่วประเทศ 2. แต่งตั้งทีมบริกรข้อมูล นำโดยผู้อำนวยการสำนักดิจิทัลสุขภาพ

3.ประกาศโครงสร้างมาตรฐานข้อมูลสุขภาพ เพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ รวมถึงระบบการเบิกจ่าย โดยจะมีการลงนามประกาศให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและดำเนินการต่อไป

และ 4. กำหนดมาตรฐานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสำหรับผู้รับและผู้ให้บริการ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้เกิดการบูรณาการข้อมูลอย่างไร้รอยต่อจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

เพื่อให้ประชาชนเข้ารับบริการได้ทุกที่ สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองอย่างสะดวกและรวดเร็ว
          
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งการทำงาน ดำเนินนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อความต้องการของประชาชน โดยเชื่อมั่นว่าการยกระดับบริการสุขภาพ ให้ครอบคลุมช่วงเวลา ความจำเป็นของประชาชน

รวมทั้ง อำนวยความสะดวกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และสร้างระบบสาธารณสุขที่เหมาะสมสำหรับคนไทย จะช่วยเพิ่มทางเลือก ลดความเเออัด ในการเข้าใช้บริการทางสาธารณสุข และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนรับบริการทางสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น

โดยมีการนำร่อง 45 จังหวัดดังนี้

สำหรับระยะที่ 1 ครอบคลุม 4 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ได้แก่

  • จ.แพร่
  • จ.ร้อยเอ็ด
  • จ.เพชรบุรี
  • จ.นราธิวาส


ระยะที่ 2 ครอบคลุม 8 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป ได้แก่

  • จ.เพชรบูรณ์
  • จ.นครสวรรค์
  • จ.สิงห์บุรี
  • จ.สระแก้ว
  • จ.หนองบัวลำภู
  • จ.นครราชสีมา
  • จ.อำนาจเจริญ
  • จ.พังงา

ระยะที่ 3 ครอบคลุม 6 เขตสุขภาพ 33 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ได้แก่

ในเขตสุขภาพที่ 1

  • จ.เชียงใหม่
  • จ.เชียงราย
  • จ.น่าน
  • จ.พะเยา
  • จ.ลำปาง
  • จ.ลำพูน
  • จ.แม่ฮ่องสอน
  • เขตสุขภาพที่ 3
  • จ.กำแพงเพชร
  • จ.พิจิตร
  • จ.ชัยนาท
  • จ.อุทัยธานี

และเขตสุขภาพที่ 4

  • จ.สระบุรี
  • จ.นนทบุรี
  • จ.ลพบุรี
  • จ.อ่างทอง
  • จ.นครนายก
  • จ.พระนครศรีอยุธยา
  • จ.ปทุมธานี

เขตสุขภาพที่ 8

  • จ.อุดรธานี
  • จ.สกลนคร
  • จ.นครพนม
  • จ.เลย
  • จ.หนองคาย
  • จ.บึงกาฬ


เขตสุขภาพที่ 9

  • จ.ชัยภูมิ
  • จ.บุรีรัมย์
  • จ.สุรินทร์


รวมทั้งเขตสุขภาพที่ 12

  • จ.สงขลา
  • จ.สตูล
  • จ.ตรัง
  • จ.พัทลุง
  • จ.ปัตตานี
  • จ.ยะลา

และจะขยายครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศภายในปี 2567

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: “ชลน่าน” เปิดอีก 8 จังหวัด “30บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

: เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข