คนไทยติดกับดัก “ค่าครองชีพสูง-หนี้ ท่วมหัว” เอาตัวไม่รอด

หนี้ครัวเรือน ค่าครองชีพ
ทุกวันนี้ คนไทยติดกับดัก “ค่าครองชีพสูง- หนี้ ท่วมหัว” เอาตัวไม่รอด


ทุกวันนี้คุณใช้เงินเดือนละเท่าไร?? มีรายรับเพียงพอกับรายจ่ายหรือไม่?? มีภาระ หนี้ สินมากน้อยเพียงใด?? และมีเงินเพียงพอชำระ หนี้ ได้หรือไม่??

เชื่อแน่ว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศ ติดกับดัก ค่าครองชีพสูง เพราะราคาพลังงาน ทั้งน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม กระแสไฟฟ้า รวมถึงอาหาร ที่ล้วนแต่เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำอยู่ อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว

ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังซึมๆ ไม่มีแรงส่งให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เพราะเงินงบประมาณปี 67 ยังเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่เต็มที่ การทำมาค้าขายฝืดเคือง กำลังซื้อหดหาย การส่งออกชะลอตัวจากพิษปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ จนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย

แล้วคนไทยใช้ชีวิตกันอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ วันนี้ จะพาไปสำรวจสถานการณ์ค่าครองชีพ และแนวทางการแก้ปัญหา

ค่าใช้จ่ายครัวเรือน
ข้อมูลค่าใช้จ่ายครัวเรือน เดือน มิถุนายน 2567

ครัวเรือนใช้จ่ายเดือนละกว่า 1.8 หมื่นบาท

จากข้อมูลของ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในช่วงหลายปีมานี้ ครัวเรือนไทย ที่ส่วนใหญ่จะอยู่กัน 4 คน มีรายจ่ายเฉลี่ยเดือนละประมาณ 18,000 บาท อย่างเดือนมิ.ย.67 อยู่ที่ 18,243 บาท ลดลงเล็กน้อยจากเดือนพ.ค.67 ที่อยู่ที่ 18,301 บาท

สินค้าและบริการ ที่ประชาชนใช้จ่ายเงินสูงสุด อันดับแรกคือ ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ ที่มากถึงดือนละ 4,268 บาท

ตามด้วย ค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 4,003 บาท, อาหารบริโภคในบ้าน อาหารสั่งซื้อจากดีลิเวอรี่ 1,652 บาท, เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ 1,642 บาท

อาหารบริโภคนอกบ้าน เช่น ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง ฟาสต์ฟูด 1,262 บาท, ผัก และผลไม้ 1,081 บาท, ค่าแพทย์ ยา และบริการส่วนบุคคล 986 บาท, ค่าหนังสือ สันทนาการ ค่าเล่าเรียน การกุศลต่างๆ 768 บาท

ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง 703 บาท, เครื่องปรุงอาหาร 430 บาท, ไข่ ผลิตภัณฑ์นม 419 บาท, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 410 บาท, ค่าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า 374 บาท และค่าบุหรี่ เหล้า เบียร์ 245 บาท

จะเห็นได้ว่า รายจ่ายส่วนใหญ่หมดไปกับค่าโดยสารสาธารณะ ค่าโทรศัพท์มือถือและสัญญาณอินเตอร์เน็ต ค่าเชื้อเพลิงต่างๆ รวมถึงค่าอาหาร

ยิ่งในช่วงที่ราคาพลังงาน ค่ากระแสไฟฟ้าสูง หรือในช่วงน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตร ผักสด ผลไม้เสียหาย จะยิ่งทำให้ค่าครองชีพของคนไทยพุ่งกระฉูด

และยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ของครัวเรือนรายได้ต่ำ ให้ไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปากได้เลย เพราะคนเหล่านี้ ต้องกู้เงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะจากเงินกู้นอกระบบมากขึ้น

แต่หนทางหารายได้เพิ่มมีริบหรี่ จากบรรยากาศเศรษฐกิจซึมๆ จึงไม่มีรายได้พอชำระหนี้ และต้องก่อหนี้ใหม่เพิ่มเพื่อนำมาใช้หนี้เก่า ทำให้หนี้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งทำให้หนี้ครัวเรือนของประเทศ ขยับสูงขึ้นอีก

ล่าสุดอยู่ที่ 90-91% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ในระดับอันตรายสำหรับเศรษฐกิจไทย เพราะคนไม่มีกำลังซื้อ ไม่มีเงินใช้จ่าย ส่งผลให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจน้อย เศรษฐกิจซึม และชะลอตัว

ดีเซลขึ้น 1 บาทส..นี้ค่าไฟงวดใหม่ขยับตาม

และดูเหมือนว่า สถานการณ์ค่าครองชีพสูงของคนไทย ยังไม่หยุดนิ่ง ล่าสุด มีแนวโน้มที่ “คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” หรือ กบน. อาจขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอีกลิตรละ 1 บาท เป็นลิตรละ 34 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ..นี้ หลังการตรึงราคาไม่เกินลิตรละ 33 บาท ระยะเวลา 3 เดือนจะสิ้นสุดวันที่ 31 ก.ค.นี้

เพื่อรักษาสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน ที่ล่าสุด วันที่ 7 ..67 ติดลบ 111,595 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมัน ติดลบ 63,944 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 47,651 ล้านบาท

เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลก ยังผันผวนสูง และอยู่ในระดับสูง หากไม่ขึ้นราคาอีก 1 บาท กองทุนน้ำมัน อาจติดลบรุนแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม กบน.ได้พยายามดำเนินการ 2 แนวทางในช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อหลีกเลี่ยงการปรับขึ้นราคา แต่ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยแนวทางแรก ทำหนังสือถึงสำนักงบประมาณ ขอใช้งบกลางปี 67 วงเงิน 6,500 ล้านบาท เป็น ดีเซล 6,000 ล้านบาท และแอลพีจี 500 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ แต่ได้รับการประสานว่า งบกลางมีจำกัด อาจไม่สามารถนำมาใช้ได้

แนวทางสอง เสนอให้กระทรวงการคลัง ลดจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลตามความเหมาะสม แต่กระทรวงการคลัง ไม่ตอบรับ เพราะต้องจัดเก็บรายได้ให้ได้ตามเป้าหมาย

การปรับขึ้นราคาดีเซลถึงลิตรละ 3-4 บาท จากรัฐบาลก่อนที่ตรึงไว้ที่ไม่เกินลิตรละ 30 บาทนั้น ทำให้ผู้ให้บริการขนส่ง หรือโลจิสติกส์ ได้ปรับขึ้นค่าขนส่งไปแล้ว ซึ่งจะกระทบต่อราคาสินค้าได้

ขณะที่ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) งวดใหม่เดือนก..-..นี้ อาจปรับขึ้นอีกหน่วยละ 20-40 สตางค์ จากค่าไฟฟ้างวดปัจจุบันที่รวมค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท

เพื่อทยอยชำระหนี้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ล่าสุดอยู่ที่ 98,000 ล้านบาท อีกทั้งค่าเงินบาทอ่อนค่า ดันต้นทุนนำเข้าก๊าซธรรมชาติสูงขึ้น และเข้าสู่ฤดูหนาว ที่ราคาเชื้อเพลิงตลาดโลกสูงขึ้น

โดยหากราคาดีเซล และค่าเอฟทีปรับขึ้นอีก ราคาสินค้าอาจต้องปรับขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้น และจะยิ่งกระชากเงินในกระเป๋าคนไทยออกไปเพิ่มขึ้น

แต่กระทรวงพาณิชย์ ยืนยันจะติดตามราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด เพราะดีเซล เป็นต้นทุนขนส่ง และต้นทุนขนส่งก็เป็นหนึ่งในต้นทุนสินค้า แต่จะยังคงขอความร่วมมือผู้ผลิตตรึงราคาขายต่อไป 

หากรายใดแบกภาระต้นทุนไม่ไหว จะขอขึ้นราคา ก็จะพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม พร้อมขอความร่วมมือห้างต่างๆ จัดโปรโมชั่นลดราคาขายสินค้าต่อเนื่อง เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน

ธปท.แนะสร้างรายได้ให้มากกว่ารายจ่าย

จากสถานการณ์ ชักหน้าไม่ถึงหลัง เช่นนี้ ได้รับการตอกย้ำให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นจาก นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กล่าวภายในงานสัมมนาประจำปี 67 ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า

แรงงานไทยส่วนใหญ่รายได้น้อยกว่ารายจ่ายมานานเป็น 10 ปี และตอนนี้ส่วนต่างรายได้กับรายจ่ายยิ่งเพิ่มขึ้น อย่างปี 66 รายได้เฉลี่ยคนไทยทั้งประเทศน้อยกว่ารายจ่าย หรือติดลบเดือนละ 2,663 บาท โดยภาคอีสาน ติดลบสุงสุดเดือนละ 5,396 บาท ตามด้วยภาคเหนือ ติดลบ 3,112 บาท และภาคใต้ ติดลบ 1,499 บาท

ทางออกคือ ก่อหนี้ เพิ่ม เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนไทยสูงมากถึง 90-91% ของจีดีพี ส่วนใหญ่เป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน ทำให้แก้ยากกว่าหนี้ครัวเรือนประเทศอื่น ที่มีหลักประกัน การแก้หนี้ต้องทยอยทำ และแม้แก้หนี้เก่าได้หมด ก็จะก่อหนี้ใหม่เพิ่ม เพราะรายได้ยังไม่พอกับค่าครองชีพ 

ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือ สร้างรายได้ให้ประชาชนมากกว่ารายจ่าย และเติมเงินสินเชื่อ ให้ประชาชน และภาคธุรกิจอย่างเหมาะสม เข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย ไม่ก่อหนี้เกินตัว หรือก่อหนี้โดยไม่จำเป็น

ซึ่งต้องทำควบคู่กับการ แก้หนี้เก่า ผ่านแนวทางสินเชื่ออย่างเป็นธรรมที่ ธปท.บังคับใช้ เพื่อดูแล ตั้งแต่ก่อนก่อหนี้ ก่อหนี้ใหม่ และปรับโครงสร้างหนี้เก่า รวมถึงเพิ่มทางเลือกปล่อยสินเชื่อผ่านระบบดิจิทัลเพิ่มขึ้น

คนส่วนใหญ่อาจเห็นว่า ธปท.เน้นดูแลเสถียรภาพราคา เสถียรภาพระบบการเงิน เงินเฟ้อ หรือการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ท้ายที่สุดหลักในการทำงานนั้น ก็เพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีของคนไทยส่วนรวมอย่าง ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และไม่ได้หวังผลดีขึ้นระยะสั้นๆ และสร้างผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ แต่หวังผลในระยะยาวยั่งยืน จึงต้องชั่งน้ำหนักในแต่ละมาตรการที่ออกมาให้ดี

สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : อว. เร่งใช้นวัตกรรม ภูมิปัญญาไทย แก้หนี้ครัวเรือน 4 ภาค