

“ชลน่าน” ย้ำแก้ไขปัญหายาเสพติด ถือเป็นวาระแห่งชาติ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกหน่วยงาน โดยยึดหลัก เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย
- ครอบครัว -ชุมชนมีส่วนร่วม
- ช่วยผู้ป่วยยาเสพติดเข้าถึงการบำบัดเพิ่มขึ้น
- รับกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปลอดภัย
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติด ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกหน่วยงาน โดยยึดหลัก เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ซึ่งสถาบันครอบครัว สังคม ชุมชน มีส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษา และรับกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ จังหวัดพังงามีแผนที่จะเปิดมินิธัญญารักษ์เพื่อรองรับผู้ป่วยระยะกลางเพิ่มอีก 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลท้ายเหมืองชัยพัฒน์ โรงพยาบาลคุระบุรีชัยพัฒน์ และโรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์ เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดได้รับการดูแลแบบครบวงจรครบทุกอำเภอ
ทั้งนี้จาการลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน แล้ว กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าให้มีการจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ ใน 76 จังหวัด เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดและฟื้นฟูผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ให้เข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างครบวงจรใกล้บ้าน โดยการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดเป้าหมายให้ผู้ป่วยยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา และได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพต่อเนื่อง ร้อยละ 62 ซึ่งในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้มีการจัดตั้งแล้วรวม 8 แห่ง ได้แก่ กระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล จังหวัดละ 1 แห่ง และตรัง 3 แห่ง

ในส่วนของโรงพยาบาลตะกั่วทุ่ง ได้เปิดมินิธัญญารักษ์ขนาด 10 เตียง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นแห่งแรกของจังหวัดพังงา ให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ตั้งแต่ระยะเฉียบพลัน ดูแลระยะกลาง และบำบัดฟื้นฟูระยะยาว โดยข้อมูลถึงวันที่ 20 มกราคม 2567 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการรวม 18 คน ส่วนใหญ่มีผลมาจากแอมเฟตามีน (Amphetamine Included Psychosis) ที่เหลือจากแอลกอฮอล์ (Alcohol Withdrawal) สำหรับรูปแบบการดูแลรักษาได้ใช้กิจกรรมควบคู่กับการบำบัดรักษาทางการแพทย์ ทั้ง การปฐมนิเทศให้ความรู้ การดูแลระยะถอนพิษยา กิจกรรมบำบัดระยะกลาง ได้แก่ CBT Basic, ทักษะชีวิต, การมีส่วนร่วมของครอบครัว, การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย, การประเมินการดูแล ซึ่งผู้ป่วยทุกรายที่ผ่านกระบวนการรักษาและส่งกลับคืนสู่สังคมจะมีการติดตามโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กศน. โรงเรียน รพ.สต. เป็นต้น ส่วนการส่งต่อรักษา จะมี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลาเป็นแม่ข่าย และมีศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตำบลคลองเคียน ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง ทำให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น และสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง