นวัตกรรมเครื่องพ่นสารแบบใช้แรงลมในการพ่นป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดคว้าอีก 1 รางวัลเลิศรัฐ

  • ลุ้นประกาศผลเดือนสิงหาคม
  • เตรียมจัดงานใหญ่เผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรม
  • พร้อมนำไปใช้ประโยชน์วันที่ 18-20 ก.ค.นี้

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า รางวัลเลิศรัฐ เป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่มอบให้หน่วยงานที่มีความมุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จ มีความเป็นเลิศแห่งหน่วยงานรัฐทั้งปวง โดยมีสาขาภายใต้รางวัล จำนวน 3 สาขา ได้แก่ สาขาบริการภาครัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม และสาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ กรมวิชาการเกษตร ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้ส่งผลงานเพื่อขอรับรางวัลเลิศรัฐมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ซึ่งในขณะนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. ได้มอบรางวัลภายใต้ชื่อ “รางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ” กรมวิชาการเกษตร ได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลเป็นจำนวนทั้งสิ้น 21 รางวัล

ทั้งนี้เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตร สามารถคว้ารางวัลเลิศรัฐมาได้ถึง 2 รางวัล ในสาขาการบริการภาครัฐ   โดยได้รับรางวัลระดับดีเด่น ในประเภทนวัตกรรมการบริการ จากผลงานเรื่อง “นวัตกรรมการตรวจไส้เดือนฝอยศัตรูพืชด้วยเทคนิคคลื่นความถี่เหนือเสียง (Ultrasonic) เพื่อการบริการตรวจพืชนำเข้าส่งออก” และระดับดี  ในประเภทพัฒนาการบริการ จากผลงานเรื่อง “การผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมปาล์มน้ำมัน”  และในปี 2565 กรมวิชาการเกษตรได้รับการพิจารณาผ่านเกณฑ์การประเมินให้อยู่ในกลุ่มผลงานที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับรางวัล “ระดับดี” จำนวน 1 ผลงาน จากผลงานเรื่อง นวัตกรรมเครื่องพ่นสารแบบใช้แรงลมในการพ่นป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพด โดยจะมีการประกาศผลการพิจารณารางวัลภายในเดือนสิงหาคม ซึ่งจากการได้รับรางวัลเลิศรัฐอย่างต่อเนื่อง จนได้รับคำชมเชยจากคณะกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา และสำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ปฏิบัติงานและกรมวิชาการเกษตรเป็นอย่างมาก

สำหรับปี 2565 นี้ได้สั่งการให้มีการจัดกิจกรรมการประกวดผลงานที่เชื่อมโยงสมดุลวัฒนธรรมองค์กรและการทำงาน กรมวิชาการเกษตร หรือ BALANCE DOA TOGETHER  ซึ่งให้ความสำคัญกับการปรับปรุง (Improve) การยกระดับ (Upgrade) ความทันสมัย (Modernization) ความร่วมมือ (Cooperation) โดยใช้ชื่อ “รางวัลคุณภาพการบริการและการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม กรมวิชาการเกษตร” (DOA Together Award) ซึ่งเป็นรางวัลที่แสดงให้เห็นว่าผลการทำงานของหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร ภายใต้สมดุลวัฒนธรรมองค์กรและการทำงาน กรมวิชาการเกษตร หรือ BALANCE DOA TOGETHER เป็นที่ยอมรับ และเป็นสิ่งยืนยันความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ และการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่หน่วยงานอื่นๆ ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการให้บริการและระบบการบริหารของหน่วยงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป  และเป็นการส่งเสริม สนับสนุน เสริมสร้างบรรยากาศและแรงจูงใจให้เกิดนวัตกรรมในการปรับปรุงกระบวนการทำงาน/การให้บริการ โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งเป็นการส่งเสริม และเป็นการเตรียมความพร้อมหน่วยงานในการส่งผลงานเพื่อขอรับรางวัลเลิศรัฐต่อไป

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับผลงานวิจัยการเกษตร ต้องสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร และผู้ประกอบการภาคการเกษตรและอาหาร ซึ่งสอดคล้องกับข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา ที่ขอให้กรมวิชาการเกษตรใช้หลัก”ตลาดนำการวิจัย” กรมวิชาการเกษตรจึงเตรียมจัดการประชุมผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ดำเนินการเสร็จสิ้นและพร้อมที่จะนำไปใช้ประโยชน์สู่สาธารณชน รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินงานวิจัยของนักวิจัย และเป็นเวทีรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกด้วย โดยมีนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดประชุมผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรที่จะจัดอย่างยิ่งใหญ่ในระหว่างวันที่ 18-20 ก.ค. 2565 ด้วย