

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ออกนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน ปีการศึกษา2564 พร้อมทั้งคู่มือการรับนักเรียน ไปให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศได้ปฏิบัตินั้น ตนได้ติดตามการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาทั้งในระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ตลอดจนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พบว่าในการเตรียมการรับนักเรียนไม่พบปัญหาอะไร
ทั้งนี้ในส่วนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่จะมีการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม.4) ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ ที่สนามสอบเมืองทองธานี เพียงสนามเดียว โดยจะมีผู้เข้าสอบประมาณ 20,000 กว่าคน มีการจัดห้องสอบโดยแบ่งสีจังหวัดของผู้เข้าสอบ ตามลำดับสถานการณ์ความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19 ) เช่น หากมาจากจังหวัดสีแดงสอบกลุ่มสีแดง มาจากจังหวัดสีเหลืองก็สอบกลุ่มสีเหลือง เป็นต้น ทั้งนี้ได้มีการขออนุญาตดำเนินการจัดสอบกับศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เรียบร้อยแล้ว
ดร.อัมพร กล่าวต่อว่า สำหรับโรงเรียนกลุ่มอื่นๆ ก็ดำเนินการสอบไปตามปฏิทินการรับนักเรียน เช่น โรงเรียนที่จัดห้องเรียนพิเศษ จะรับสมัครนักเรียนระดับก่อนประถมศึกษา และประถมศึกษาปีที่ 1 (ป.1) ในระหว่างวันที่ 6 – 10 มี.ค.นี้เป็นต้น
ทั้งนี้ ในส่วนของปฏิทินการรับนักเรียนได้มีการเลื่อนวันจับฉลาก วันประกาศผล และวันรายงานตัว ของนักเรียนระดับชั้นก่อนประถมศึกษา จากวันที่ 28 มี.ค.ซึ่งตรงกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี เป็นวันที่ 4 เม.ย.และกำหนดวันมอบตัวจากวันที่ 4 เม.ย.เป็นวันที่ 6 เม.ย.64 นอกนั้นคงเดิม
ดร.อัมพร กล่าวว่า จากการประกาศเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบเรื่องคณะกรรมการรับนักเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษานั้น สพฐ.ได้แจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่ฯ ต่างๆ ออกคำสั่งรองรับการเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติทั้งหมดไปแล้ว สำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สพฐ.ได้มอบอำนาจให้คณะกรรมการเขตพื้นที่ฯ ไปออกแบบแก้ไขปัญหาให้มีความคล่องตัวและตรงกับบริบทของแต่ละจังหวัด แต่ต้องไม่ขัดกับหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติการรับนักเรียนที่ สพฐ.กำหนด รวมถึงกำชับให้เขตพื้นที่ฯสอดส่องดูแลให้สถานศึกษาดูแลเรื่องการรับนักเรียนด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษาสังกัด สพฐ.ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) อย่างเคร่งครัด
“สำหรับข้อกังวลของนักเรียนและผู้ปกครอง ว่า ความรู้จะไม่เพียงพอต่อการสอบ เพราะต้องเรียนออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น เรื่องความวิตกกังวลห้าม ไม่ได้แต่อยากสื่อสารไปยังผู้ปกครองและนักเรียน ว่า อย่าวิตกกังวล การสอบปีนี้ได้กำชับให้ทุกโรงเรียนออกเนื้อหาในการสอบเข้าเรียนต่อ โดยคำนึงถึงเนื้อหาในภาคเรียนที่ 1 หรือ ชั้น ม.1 , ม.2 เป็นหลักในการสอบเข้าเรียนต่อ ชั้น ม.4 หรือ สอบถ้าสอบชั้น ม.1 ก็ดูเนื้อหาชั้น ป.6 ภาคเรียนที่ 1 หรือเนื้อหาของชั้น ป. 4 , ป.5 เป็นเนื้อหาในการสอบมากขึ้น เพื่อไม่ให้นักเรียนเหลื่อมล้ำกันมากซึ่งทุกคนก็รู้ว่าปีนี้ไม่ปกติ และคนออกข้อสอบก็คำนึงถึงเรื่องนี้อยู่แล้ว” ดร.อัมพร กล่าว