5 ข้อที่ “ลูกค้า” สามารถปฏิเสธ “แบงก์” ได้ถ้าไม่ต้องการทำ

เคยไหมค่ะ! เมื่อไปทำธุรกรรมกับธนาคารพาณิชย์แล้ว รู้สึกอึดอัดใจ เพราะพนักงานธนาคาร มักจะเสนอขายผลิตภัณฑ์โน้น นี่ นั่น เพิ่มเติมจากธุรกรรมที่เราต้องการ เช่น การขายกองทุน ขายประกันชีวิต ประกันภัย หรือ ทำบัตรต่างๆ เพิ่มเติมมากมาย ซึ่งหลายๆ ผลิตภัณฑ์เราก็ไม่ค่อยเข้าใจ และไม่สบายใจที่จะทำ และอีกหลายผลิตภัณฑ์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

วันนี้ เราจะมาแนะ 5 ข้อที่ลูกค้าสามารถที่จะปฏิเสธได้โดยไม่มีผลกระทบต่อบัญชีหรือการขอสินเชื่อของเรา เวลาไปทำธุรกรรมการเงินที่แบงก์ เนื่องจากแบงก์ชาติ กำหนดกฎเกณฑ์ห้ามเหล่านี้เอาไว้ โดยธนาคารพาณิชย์จะทำให้เราไม่ได้หากเราไม่อนุญาตให้ดำเนินการ

ทำบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต พ่วงประกัน 

หลายครั้งที่ เราเข้าไปที่สาขาธนาคารพาณิชย์เพื่อขอทำเพียงแค่บัตรเอทีเอ็มธรรมดาๆ หรือ บัตรเดบิต ที่ไม่ได้เสริมบริการอื่นใด นอกจากการชำระเงินผ่านระบบเดบิต ซึ่งมีค่าธรรมเนียมรายปีไม่สูงมาก แต่พนักงานมักจะบอกว่าบัตรเหล่านี้หมด หรือขอเพิ่มบริการอื่นๆ ลงไปในบัตรเดบิต เช่น พ่วงประกัน หรือพ่วงบริการเสริมอื่นๆ ซึ่งทำให้ค่าธรรมเนียมรายปีของบัตรเพิ่มขึ้น โดยบางบัตรเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

แบงก์ชาติ ยืนยันว่า แบงก์ไม่สามารถจะอ้างว่า บัตรหมดและเปลี่ยนบัตรเป็นประเภทที่ลูกค้าไม่ยินยอมได้ ดังนั้นหากลูกค้าไม่ต้องการ สามารถปฏิเสธได้ทุกกรณี ให้ยืนยันว่า “บัตรที่เราต้องการทำ” เท่านั้น

เพิ่มวงเงินบัตรเครดิต หรือแถมบัตรกดเงินสด

หลายๆ ครั้ง ที่ธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มวงเงินสินเชื่อในบัตรเครดิตให้กับลูกค้า และลูกค้าไม่ได้ปฏิเสธจะถือว่าลูกค้ายอมรับการเพิ่มวงเงินนั้น (opt out) แต่หากพิจารณาตามเกณฑ์ของแบงก์ชาติ แบงก์พาณิชย์จะเพิ่มวงเงินให้ลูกค้าเองไม่ได้ ลูกค้าจะแจ้งยืนยันยอมรับการเพิ่มวงเงิน (opt in) ก่อนเท่านั้นจึงจะเพิ่มวงเงินได้

เช่นเดียวกับ การแถมบัตรกดเงินสดให้ควบคู่กับบัตรเครดิต ลูกค้าโดยที่ลูกค้าไม่ได้ขอสมัครบัตรกดเงินสดดังกล่าวไม่ได้ เพราะแบงก์ชาติ มองว่าอาจจะเป็นการสนับสนุนให้ลูกค้าก่อหนี้เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัวหรือไม่จำเป็น

ดังนั้น หากเราต้องการจะคุมวงเงินในการใช้จ่ายและก่อหนี้ของตัวเองผ่านบัตรเครดิต เราสามารถปฏิเสธวงเงินเพิ่มได้

เปิดเผย “ข้อมูลส่วนตัว” ของลูกค้า

ในการขอเปิดสมุดบัญชีเงินฝาก หรือการขอสินเชื่อใดๆ ก็ตาม ซึ่งธนาคารพาณิชย์ได้รับข้อมูลส่วนตัวของเราไปเช่น เลขบัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์มือถือ ที่อยู่ปัจจุบัน ฯลฯ ตามกฎหมายแล้ว ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถที่จะเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ของเราให้กับผู้อื่น รวมทั้งบริษัทในเครือ เช่น บริษัทประกัน บริษัทบัตรเครดิต หรือกองทุนในเครือได้ ยกเว้นว่าเราจะอนุญาตให้เผยแพร่ได้

โดยการอนุญาตให้การเปิดเผยข้อมูลนั้น ธนาคารพาณิชย์จะมีเอกสาร “ยินยอม” การเปิดเผยข้อมูลมาให้เรา ซึ่งจะเปิดเผยข้อมูลได้สำหรับบริษัทในเครือเท่านั้น แต่หากเราไม่ยินยอมให้เปิดเผย สามารถที่ลงนามในเอกสารว่าเราปฏิเสธไม่ยินยอมได้เช่นกัน

โทรแนะนำ ขายผลิตภัณฑ์การเงิน

เป็นอีกกรณีที่ลูกค้าเจอกันประจำ ที่หลายวันต่อสัปดาห์ เราจะได้รับโทรศัพท์ มาแนะนำผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆไม่ว่าจะเป็นสิทธิพิเศษทำประกัน กองทุน บัตรเครดิต บัตรกดเงินลด หรือสินเชื่อใหม่ประเภทต่างๆ ตามกฎของแบงก์ชาตินั้น การโทรแนะนำหรือขายผลิตภัณฑ์จะต้องไม่รบกวน ไม่บังคับลูกค้า หากลูกค้าไม่ว่างรับสาย ไม่สามารถที่จะตื้อขายสินค้าได้

และหากจำเป็น หรือเรารู้สึกว่า “รบกวน”มากเกินไป เราสามารถที่จะ ขอให้เจ้าหน้าที่ของธนาคารนั้นๆ ไม่ติดต่อกลับมาอีกได้ และขอให้แจ้งกับพนักงานคนอื่นๆให้งดการติดต่อเพื่อขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้ด้วยเช่นกัน

ขายประกัน หรือกองทุน พ่วงเงินฝาก

การนำประกัน หรือกองทุน มาพ่วงกับเงินฝาก เป็น “เงินฝากประเภทพิเศษ” ต่างๆ นั้น ถือเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของธนาคารพาณิชย์ เพราะจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำมากในขณะนี้ แต่อย่างไรก็ตามพนักงานธนาคารพาณิชย์ ต้องอธิบายและทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์นั้น ไม่ใช่เงินฝาก แต่เป็นประกัน หรือกองทุน ซึ่งมีรายละเอียดการลงทุน และการรับเงินคืนแตกต่างกันเงินฝาก รวมทั้งอาจะได้รับเงินคืนไม่เต็มจำนวนได้ในกรณีกองทุน

และที่สำคัญที่สุด คือ ไม่สามารถบังคับ หรือเนียนๆ ทำ“เงินฝากประเภทพิเศษ”ให้ลูกค้าได้ ลูกค้าสามารถปฏิเสธและขอทำแค่บัญชีเงินฝาก ตามปกติได้ โดยไม่ผิดอะไรเลย

และนี่คือ 5 ข้อเบื้องต้นที่ลูกค้าสามารปฏิเสธ “แบงก์” ได้หากไม่ต้องการทำ และหากเกิดปัญหาขึ้นสามารถร้องเรีบนที่ศูนย์คุ้มครองผู้ให้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร.1213