ไม่หวานอย่างที่คิด…ราคาอ้อยขั้นต้นมีแววไม่ถึง 700 บาทต่อตัน

  • คณะกรรมการอ้อยประเมินผลผลิตฤดูหีบใหม่ปี 62/63 มีแววลด
  • เหตุราคาน้ำตาลทราบดิบตลาดโลกตกต่ำ 
  • อีกทั้งชาวไร่อ้อยหันปลูกพืชเกษตรที่ราคาดีกว่าทดแทน

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)  เปิดเผยว่า  เมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการอ้อย (กอ.) ได้ทำการประเมินผลผลิตอ้อยในฤดูหีบอ้อยใหม่(ปี2562/63 )ที่จะเปิดหีบในเดือนพ.ย.นี้ โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 119 ล้านตันอ้อย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลงจากฤดูหีบอ้อยปี25 61/62 ที่ได้ปิดหีบไปเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และ มีผลผลิตอ้อยเข้าป้อนโรงงาน 55 แห่งรวม 130.97 ล้านตันอ้อย  และมีผลิตน้ำตาลรวม  14 ล้านตัน โดยปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตในฤดูหีบอ้อยปี2562/63 ลดลงเนื่องจากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลก ยังคงตกต่ำต่อเนื่องที่จะสะท้อนไปยังราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลใหม่ปี 2562/63 ที่มีแนวโน้มจะต่ำกว่า 700 บาทต่อตัน ส่งผลให้เกษตรกรไม่มีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น และชาวไร่อ้อยบางส่วนลดพื้นที่ไปปลูกพืชอื่นๆ ที่ราคาดีกว่า ประกอบกับบางพื้นที่เผชิญกับภาวะภัยแล้งทำให้ผลผลิตลดลง

“ยอมรับว่าผลผลิตน้ำตาลปี25 61/62 มีปริมาณค่อนข้างมาก เพราะอ้อยที่เกษตรกรปลูกมีค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12.64 ซี.ซี.เอส. ส่งผลให้อ้อย 1 ตันที่เข้าหีบสามารถผลิตน้ำตาลออกมาได้ 111.33 กิโลกรัม (กก.) และโรงงานน้ำตาลก็ มีประสิทธิภาพการผลิต ที่ดี แต่มองว่าฤดูหีบอ้อยปี2562/63 ที่มีแนวโน้มราคาอ้อยตกต่ำ ทำให้การบำรุงอ้อยตอของชาวไร่อ้อยอาจจะลดน้อยลง เพราะการบำรุงตอต้องใช้ปุ๋ยจำนวนมาก ที่เป็นต้นทุนหลักในการผลิต  ส่วนปริมาณผลผลิตจะมากน้อยเพียงใด กท.ต้องหารือกับ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)อีกครั้งในเร็วๆนี้”

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่าขณะนี่ราคา น้ำตาลทรายดิบตลาดโลกล่าสุดเฉลี่ยเหลือเพียง 11-12  เซนต์ต่อปอนด์ซึ่งถือว่ายังเป็นอัตราที่ต่ำ เนื่องจากผลผลิตของประเทศอินเดียและประเทศไทยมีจำนวนมากในฐานะผู้ผลิตน้ำตาลหลักๆของโลก   ขณะเดียวกันจะต้องติดตามราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดที่ล่าสุดหากราคาตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง   อาจทำให้ประเทศบราซิลที่นำอ้อยไปผลิตเอทานอลก่อนหน้านี้ ก็อาจกลับมาผลิตน้ำตาลเพิ่ม ก็จะยิ่งกดดันราคาน้ำตาล ตลาดโลกให้ลดลงได้อีก เพราะบราซิลก็เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในตลาดโลกอีกประเทศหนึ่ง

“ราคาน้ำตาลโลกที่ตกต่ำในขณะนี้ ทำให้โรงงานน้ำตาลทรายในประเทศส่วนใหญ่ยังคงไม่สามารถส่งออกได้ด้วย 2 ปัจจัย 1.ราคาตกต่ำทำให้ยังไม่ต้องการส่งออก เพราะเสี่ยงต่อการขาดทุน  2. ลูกค้าทั่วโลกก็ เห็นว่าราคาตกต่ำ ซึ่งสามารถสั่งซื้อจากผู้ผลิตรายใดก็ได้ จึงชลอการสั่งซื้อเพื่อรอดูว่าราคาจะตกต่ำไปกว่านี้อีกหรือไม่   ด้วยเหตุนี้ทำให้โรงงานหลายๆแห่ง จึงต้องเร่งหาพื้นที่จัดเก็บ(โกดัง)รองรับสต็อกใหม่เนื่องจากเหลือเวลาอีกเพียง 5  เดือนก็จะต้องเริ่มเปิดหีบใหม่”

สำหรับราคาน้ำตาลทรายตลาดโลก ที่ยังคงอยู่ในภาวะล้นสต็อก นอกจากมาจากปัจจัยหลักๆคือผลผลิตของโลกเพิ่มขึ้นแล้วยังมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ชะลอตัวจากภาวะสงครามการค้าสหรัฐและจีนทำให้การบริโภคน้ำตาลของโลกที่ปกติแล้วเฉลี่ยจะต้องมีอัตราการเติบโต 2% ต่อปีในช่วงที่ผ่านมาแต่เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อเนื่องทำให้ระยะหลังนี้การบริโภคน้ำตาลของโลกจะโตเฉลี่ยเพียง 1.4% ต่อปีเท่านั้น