ไทย-อียู จับมือสร้างประวัติศาสตร์การค้า-ลงทุน

  • ประกาศเจตจำนงทางการเมืองเจรจาเอฟทีเอ
  • “จุรินทร์” เตรียมชง ครม.ไฟเขียวใน 2 สัปดาห์
  • หวังสร้างแต้มต่อผู้ประกอบการไทยเหนือคู่แข่ง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับ นายวัลดิส โดมโบรฟสกิส) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การค้าของสหภาพยุโรป (อียู) ระหว่างการเดินทางเยือนบรัสเซลส์ เบลเยี่ยม เมื่อวันที่ 25 ม.ค.66 ว่า ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของไทยกับอียู ที่ได้เจรจาทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยกัน โดยฝ่ายการเมืองของทั้ง2 ฝ่าย ได้ร่วมกันแสดงเจตจำนงเริ่มต้นเจรจาเอฟทีเอ โดยที่แต่ละฝ่ายจะดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อนำไปสู่การจัดทำเอฟทีเอ ต่อไปโดยเร็ว

“ถือเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายการเมืองทั้ง 2 ฝ่าย ประชุมและแสดงเจตจำนงร่วมกันที่จะเริ่มต้นเจรจาเอฟทีเอ โดยในส่วนของไทย ผมจะนำเข้าหารือคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู คาดจะนำเข้าครม.ภายใน 2 สัปดาห์นี้ ส่วนรองนายกรัฐมนตรีและรมต.การค้าของอียู จะนำผลการหารือไปดำเนินการขอคำรับรองจากสมาชิก 27 ประเทศ ตั้งเป้าจะดำเนินการตามกระบวนการภายในให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อประกาศนับหนึ่งการเริ่มต้นเจรจาอย่างเป็นทางการต่อไป โดยทั้ง 2 ฝ่ายตั้งเป้าว่าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปีนี้” 

นายตุรินทร์ กล่าวต่อว่า ไทยได้ใช้ความพยายามในการเจรจาทำเอฟทีเอกับอียูมาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถนับหนึ่งได้อย่างเป็นรูปธรรม จนมาประสบความสำเร็จในครั้งนี้ และหากทำสำเร็จ ไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียนที่มีเอฟทีเอกับอียู ต่อจากสิงคโปร์ เวียดนาม ทำให้ไทยจะมีตลาดการค้าที่ได้เปรียบคู่แข่งขันอื่นเพิ่มขึ้นอีก 27 ประเทศเป็นแต้มต่อสำหรับไทย ทั้งในเรื่องการค้า การค้ายริการ การลงทุน และอื่นๆ ในอนาคต เป็นการสร้างเงิน สร้างอนาคตให้กับประเทศต่อไป” 

สำหรับอียู เป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทยรองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น การค้าระหว่างไทยกับอียู ปี 65 มีมูลค่า 41,038 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 2.87% สัดส่วนการค้าที่ไทยค้ากับอียู ประมาณ 7% ของการค้ากับโลก ถือว่าเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญ และไทยส่งออกไปอียูปี 65 มูลค่า 22,794 ล้านเหรียญฯ (843,378 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5.17% สินค้าส่งออกสำคัญ คือ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์และอุปกรณ์ แอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ ไก่แปรรูป เป็นต้น สินค้าที่นำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และยา เป็นต้น