ไทย ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย มุ่งเป้าลดความเหลื่อมล้ำและยุติเอดส์ภายในปี 2573

  • มุ่งเป้าลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและยุติเอดส์
  • ไทยพร้อมสนับสนุนและขับเคลื่อนการขจัดการตีตรา
  • การเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีในทุกรูปแบบ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า ทุกวันที่ 1 มีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์สากลเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติ (Zero Discrimination Day) แต่ปัจจุบันยังพบปัญหาการตีตราและการเลือกปฏิบัติ ทั้งที่บ้าน สถานที่ทำงาน โรงเรียน สถานบริการด้านสุขภาพ หรือแม้แต่ในด้านกฎหมาย จึงทำให้คนไม่กล้าเข้ารับการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และบริการป้องกันและการรักษาที่จัดไว้ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการยุติเอดส์ อย่างไรก็ตาม การที่จะลดการเลือกปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อ และค่านิยมที่หยั่งรากลึกในสังคมมาเป็นเวลานาน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงแนวทางและแนวปฏิบัติ รวมถึงกฎหมายต่าง ๆ ในการเข้าถึงบริการเอชไอวีจึงเป็นเรื่องท้าทายของประเทศสมาชิกทั่วโลกที่จะต้องเร่งดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ในวาระที่ประเทศไทยเป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS Programme Coordinating Board: PCB) ปี 2565 ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการยุติการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายการยุติการตีตราและการเลือกปฏิบัติได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยการสานพลังภาคีเครือข่ายประชาคมโลก และหวังว่า การสัมมนาในวันนี้ ประชาคมโลก ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และภาควิชาการ จะร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์การทำงาน พร้อมกำหนดประเด็นปัญหาสำคัญที่นำมาแก้ไขยุติการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายและเจตนารมณ์ในการลดความเหลื่อมล้ำและยุติโรคเอดส์ให้ได้ภายในปี 2573

ด้านนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตจากประเทศต่าง ๆ ประจำประเทศไทยหรือผู้แทน องค์กรระหว่างประเทศภาคภประชาสังคม ชุมชน ผู้มีเชื้อเอชไอวี และกลุ่มประชากรหลัก รวมทั้งสถาบันวิชาการ ทั้งในประเทศไทยและเครือข่ายสมาชิกทั่วโลก นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเพื่อยุติเอดส์ภายในปี 2573 ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าใน 4 ด้านดังนี้ 1) การส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เข้าถึงและครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร 2) การเสริมสร้างความร่วมมือ แบ่งปันและสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ และงบประมาณ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานต่อโรคเอดส์ในทุกระดับ 3) เดินหน้าดำเนินงานยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติเพื่อยุติเอดส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามพันธสัญญาทางการเมืองภายใต้ยุทธศาสตร์เอดส์โลก ปี 2021-2026 และ ปฏิญญาทางการเมืองด้านเอชไอวี/เอดส์ปี 2021 และ 4) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ตลอดจนชุมชน ในการออกแบบกำหนดรูปแบบ เพื่อป้องกันและให้บริการด้านเอชไอวี/เอดส์ นำไปสู่การยุติการตีตราที่เกี่ยวกับเอชไอวีได้

สำหรับประเทศไทย เป็น 1 ใน 29 ประเทศที่เข้าร่วม Global Partnership for Action พร้อมสนับสนุนขับเคลื่อนการยุติการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีในทุกรูปแบบ โดยที่ผ่านมารัฐบาลภาคประชาสังคมและชุมชน ได้ร่วมกันพัฒนาแผนปฏิบัติการความร่วมมือเพื่อยุติการตีตราที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี (Partnership Action Plan to End HIV-related Stigma) รวมทั้งระดมงบประมาณสนับสนุนและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินงานให้เหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่