ไทยแจ้ง WTO ใช้มาตรการการค้าลดผลกระทบโควิด-19

  • มีทั้งห้ามส่งออกไข่ไก่ 30 วัน-ห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย
  • ขณะที่สมาชิกหลายประเทศทยอยแจ้งใช้มาตรการด้วย
  • ส่วน WTO คาดโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจ-การค้าโลกหนัก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยว่า องค์การการค้าโลก (WTO) ได้จัดทำเพจ COVID-19 and world trade ซึ่งเป็นเพจเฉพาะกิจบนเว็บไซต์ www.wto.org เพื่อรวบรวมข้อมูลการออกกฎระเบียบ และมาตรการทางการค้าที่ประเทศสมาชิกนำมาใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ การค้า และสาธารณสุข จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ จากข้อมูลบนเพจเฉพาะกิจ  วันที่ 29 มี..63 ระบุว่า บราซิล แอลเบเนีย คีร์กีซสถาน มอริเชียส อินโดนีเซีย คาซัคสถาน รัสเซีย และไทย รวม 8 ประเทศ ได้ยื่นเอกสารแจ้งการใช้มาตรการทางการค้าต่อ WTO แล้ว เช่น คีร์กีซสถานห้ามส่งออกอาหารบางประเภท เช่น ข้าวสาลี น้ำมันพืช น้ำตาล ข้าว และไข่ไก่ เป็นเวลา 6 เดือนมอริเชียสห้ามนำเข้าสัตว์มีชีวิต รวมถึงปลาจากจีน อิตาลี อิหร่าน เกาหลีใต้ สวิสเซอร์แลนด์ และประเทศในสหภาพยุโรปอินโดนีเซียห้ามนำเข้าหรือเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์เลี้ยงจากฮ่องกง เป็นต้น

ส่วนไทย ได้แจ้ง WTO ไปแล้วว่า รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการที่เกี่ยวกับการค้า เพื่อบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เช่น ยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับหน้ากากอนามัยและวัตถุดิบที่นำเข้ามาเพื่อผลิตหน้ากากอนามัย เป็นเวลา 6 เดือนควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัย เว้นแต่จะได้หนังสือใบอนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) และห้ามส่งออกไข่ไก่สด เป็นเวลา 30 วัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมด้านราคาและมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการผู้บริโภคในประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ WTO ได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ประกอบด้วย ฝ่ายเลขาธิการ WTO ผู้แทนของประเทศสมาชิก และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศ และจะรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ในรายงานการคาดการณ์สภาวะการค้า ประจำปี 2563 ที่จะเผยแพร่ในเดือนเม..63 รวมถึงบนเว็บไซต์เฉพาะกิจของ WTO ด้วย ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการจ้างงานทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ