ได้ใกล้ชิด…กรมขนส่งทางรางเล็งอนุญาตให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้านั่งติดแนบชิดกันได้แล้ว

  • ขนส่งทางรางหารือผู้ให้บริการรถไฟฟ้า-สาธารณสุข เล็งคลายล็อกมาตรการ
  • ให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสามารถนั่งติดกันได้-เพิ่มความหนาแน่นได้ไม่เกิน 70%
  • รองรับช่วงเปิดเทอมที่คาดว่าผู้โดยสารจะหนาแน่นขึ้นอีก

นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังประชุมหารือเตรียมการรองรับการกำหนดมาตรการดูแลผู้โดยสารในข่วงเปิดเทอม ของนักเรียน นักศึกษาในต้นเดือน กรกฎาคม 63 ร่วมกับ ผู้ให้บริการทุกราย และ กรมควบคุมโรค และ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยว่า จากการหารือร่วมกันได้ข้อสรุปที่เป็นแนวคิด 3 เรื่อง คือ ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันให้เสนอรัฐบาลในการคลายล็อคในมาตรการ เว้นระยะห่าง ในรถไฟฟ้า รถไฟชานเมือง เนื่องจากปัจจุบัน มีผู้โดยสารกลับมาในระบบประมาณถึง 800,000 เที่ยวคนต่อวัน และคาดว่าหากเปิดเทอมจะมี ผู้โดยสาร เกินกว่า 1,000,000 เที่ยวคนต่อวัน หากคงมาตรการเดิมอาจทำให้เกิดการติดเชื้ออื่น ๆ เช่น ไข้หวัด จากการมีผู้โดยสารต้องยืนรอรอบบริเวณสถานี เป็นจำนวนมากในชั่วโมงเร่งด่วนได้

ทั้งนี้เห็นควรกำหนดเพิ่มความหนาแน่นได้ไม่เกิน 70% และกำหนดจุดยืนแบบหันหลังชนกัน ในรถ และอนุญาตให้นั่งในที่นั่งติดกันได้ จากเดิมที่ หากเป็นมาตรการเข้มงวดจะได้เพียง 25% และขณะนี้ด้วยสภาพบังคับในชั่วโมงเร่งด่วน ได้ดำเนินการจำกัดความหนาแน่นที่ 50% เนื่องจากงานวิจัยทั่วโลกหากมีการเข้มงวด ในเรื่องการ คัดกรอง (กรองอุณหภูมิ) ป้องกัน (สวมหนากาก) และ ควบคุม (การบริการเจละแอลกอฮอล์ และการทำความสะอาด) จะไม่ปรากฎว่าพบผู้ติดเชื้อในระบบรถสาธารณะ รวมทั้งในขณะนี้ประเทศไทยไม่พบการแพร่ระบาดในประเทศแล้วถึง 23 วันแล้ว

อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังต้องต้องเข้มงวดใน 3 ประเด็น คือ (1) ประเด็นด้านระบบการจัดการ เช่น กำหนดให้มี Safety manager ตรวจสอบ ความสะอาด ความหนาแน่น และ การดูแลการบริการตามมาตรฐานสากล สาธารณสุขเสมอ (2) ประเด็นระบบการใช้บริการ คือ กำหนดให้ต้องสวมหน้ากาก 100%,กำหนดห้ามการพูดกันในตู้โดยสาร,กำหนดให้ยอมรับ การทำ Group release บ้างหากสภาพหนาแน่นในขบวน (3) ประเด็นการติดตามผู้โดยสาร ด้วยแอพฯ “ไทยชนะ” ควรใช้ เฉพาะในระบบรถไฟเดินทางเกินกว่า 1 ชม. เพราะผู้โดยสาร รถไฟฟ้าจะใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 8 สถานี ๆละ 3 นาที รวม 24 นาทีเท่านั้น จึงอาจไม่เหมาะที่จะใช้ทั้งนี้ ทุกฝ่ายจะร่วมกันทำ Guideline แนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดสำหรับการโดยสารในระบบรางต่อไป

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วย ผู้ให้บริการทุกราย ประสงค์จะทำ MOU กับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้านการให้คำแนะนำ ติดตาม และตรวจสอบสภาพการแพร่ระบาด ในรถไฟฟ้า รถไฟเสมอ เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบที่ประชาชนสามารถวางใจได้ รวมทั้ง กรมการขนส่งทางราง จะรายงานผลการหารือไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณา เสนอ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ปลดล็อคการเว้นที่นั่งในรถไฟฟ้า รถไฟต่อไป รวมทั้งกรมการขนส่งทางรางก็จะมีประกาศเรื่องการคลายล็อกมาตรการออกมา