ไขข้อสงสัย! “หมอธีระ” แจงวัคซีนตัวไหนปลอดภัยบ้าง แนะฉีดแล้วก็ต้องสวมหน้ากาก

วันที่ 19 มกราคม 2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์ “โควิด-19” ผ่านทางเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” มีเนื้อหาดังนี้…

สถานการณ์ทั่วโลก 19 มกราคม 2564…

ช่วงสายๆ วันนี้จะแตะ 96 ล้าน
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 531,387 คน รวมแล้วตอนนี้ 95,918,366 คน ตายเพิ่มอีก 9,028 คน ยอดตายรวม 2,046,877 คน
อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 147,246 คน รวม 24,591,412 คน ตายเพิ่มอีก 1,374 คน ยอดตายรวม 408,237 คน
อินเดีย ติดเพิ่ม 9,975 คน รวม 10,582,647 คน
บราซิล ติดเพิ่มถึง 23,671 คน รวม 8,511,770 คน 
รัสเซีย ติดเพิ่ม 22,857 คน รวม 3,591,066 คน 
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 37,535 คน รวม 3,433,494 คน 
อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลักหมื่นต่อวัน 

สเปนนั้นมีแนวโน้มการระบาดที่มากขึ้นตั้งแต่หลังปีใหม่เป็นต้นมา ติดเชื้อเฉลี่ยต่อวันสูงกว่าช่วงเดือนธันวาคมและช่วงระลอกแรกถึงสามเท่า และสูงกว่าช่วงสูงสุดของระลอกสอง 1.5 เท่า 
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลายหมื่น 
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
เมียนมาร์ เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง และไทย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนสิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่นิวซีแลนด์ และเวียดนามติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ 

…สถานการณ์ในเมียนมาร์ เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 477 คน ตายเพิ่มอีก 18 คน ตอนนี้ยอดรวม 134,795 คน ตายไป 2,973 คน อัตราตายตอนนี้ 2.2%…

ช่วงนี้มีคนสงสัยเรื่องวัคซีนกันมาก รายละเอียดเชิงเทคนิคเยอะ ขอสรุปมาให้ฟังวันละเล็กวันละน้อย

หนึ่ง “หากเลือกได้ จะเลือกใช้วัคซีนไหนดี?”

ตามหลักการแพทย์ เราจะเลือกใช้วัคซีนโดยดูสองเรื่องหลักคือ สรรพคุณ และความปลอดภัย ทั้งนี้ต้องมีข้อมูลอย่างละเอียดนำเสนอให้เห็นอย่างชัดเจน
วัคซีนป้องกันโรคโควิดในปัจจุบันที่เผยแพร่ผลการศึกษาระยะที่ 3 ที่เป็นระยะสำคัญที่ใช้ตัดสินสรรพคุณการป้องกัน และมีการนำเสนอข้อมูลความปลอดภัยต่างๆ ในวารสารทางการแพทย์ระดับสากลอย่างละเอียดนั้น ขณะนี้มี 3 ตัวคือ Pfizer/Biontech (อเมริกา/เยอรมัน), Moderna (อเมริกา), และ Astrazeneca/Oxford (อังกฤษ)

สอง “แล้ววัคซีนอื่นๆ ล่ะ?”

วัคซีนของจีนคือ Sinovac และรัสเซียคือ Sputnik-V นั้น ยังไม่มีงานวิจัยระยะที่ 3 ออกมา จึงไม่สามารถบอกรายละเอียดเรื่องสรรพคุณและความปลอดภัยได้อย่างชัดเจน แม้จะมีการรายงานข่าวผ่านทางสื่อสาธารณะก็ตาม ควรรอดูผลวิจัยตัวเต็มเสียก่อน

สาม “การันตีไหมว่าป้องกันโรคโควิด-19 ได้ชัวร์? จะได้โยนหน้ากากทิ้งเสียที”

วัคซีนทั้ง 3 ตัวข้างต้นที่มีรายละเอียดผลการวิจัยนั้น ได้รับการนำมาใช้ในประเทศต่างๆ โดยใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ (Symptomatic infection) และลดความรุนแรงของโรคได้มากน้อยแตกต่างกันไป หวังจะลดอัตราการนอนโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตของประชาชน
แต่ต้องทราบไว้ว่า แม้จะได้รับวัคซีนแล้วก็อาจติดเชื้อโดยไม่มีอาการได้ (Asymptomatic infection) ซึ่งหากรับวัคซีนไปแล้วแต่ไม่ป้องกันตัวให้ดี ก็อาจติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว และแพร่ไปให้สมาชิกในครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน และคนอื่นๆ ในสังคมได้

และที่น่ากลัวก็เพราะเรื่องนี้แหละครับ เนื่องจากมีการวิจัยแล้วพบว่าการติดเชื้อส่วนใหญ่ในสังคม (59%) มักแพร่เชื้อจากผู้ที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ดังนั้นจึงต้องเน้นย้ำเรื่องใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างๆ ยังจำเป็นต้องทำแม้จะมีวัคซีนสามตัวนี้มาใช้กันก็ตาม ไม่งั้นมันก็จะระบาดไปเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้ง

สี่ “เค้าศึกษาวิจัยกันที่ไหนบ้าง มีไทยบ้างไหม หรือศึกษาแต่ในฝรั่ง?”

ไม่ได้ศึกษาในประเทศไทย เพราะช่วงที่วิจัย ประเทศไทยเราคุมการระบาดได้ดี ไม่มีเคสติดเชื้อในประเทศ นักวิจัยจึงทำการศึกษาในประเทศที่มีการระบาดเยอะ

Pfizer/Biontech: ศึกษาใน 152 แห่ง โดย 130 แห่งอยู่ในอเมริกา 1 แห่งในอาร์เจนตินา 2 แห่งในบราซิล 4 แห่งในแอฟริกาใต้ 6 แห่งในเยอรมัน และ 9 แห่งในตุรกี รวมมีอาสาสมัครในการวิจัย 43,548 คน

Moderna: ศึกษาใน 99 แห่งในอเมริกา รวมมีอาสาสมัครในการวิจัย 30,420 คน
Astrazeneca/Oxford: ศึกษาในสหราชอาณาจักร บราซิล และแอฟริกาใต้ รวมมีอาสาสมัครในการวิจัย 11,636 คนที่ใช้วัดผลสรรพคุณ แต่มีการติดตามวัดผลเรื่องความปลอดภัยในอาสาสมัครจำนวน 23,784 คน

โดยรวมแล้ววัคซีนทั้งสามชนิด ส่วนใหญ่อาสาสมัครเป็นคนผิวขาวราว 80% เอเชียประมาณ 4.3-4.6% ที่น่าสนใจคือ อาสาสมัครที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์นั้น มี 25.4% ในการวิจัยวัคซีนของ Moderna และมีสูงถึง 79.7% ในการวิจัยวัคซีนของ Astrazeneca/Oxford ส่วนงานวิจัยของ Pfizer/Biontech นั้นไม่ได้ระบุไว้

ห้า “สรรพคุณของวัคซีนแตกต่างกันไหม?”
Pfizer/Biontech: ป้องกันได้ 95%
Moderna: ป้องกันได้ 94.1%
Astrazeneca/Oxford: ป้องกันได้เฉลี่ย 70.4%

เล่ามาให้ฟังประมาณนี้ก่อน และขอเน้นย้ำให้เราทราบว่า สถานการณ์การระบาดในประเทศไทยยังมีความรุนแรง ไม่ได้ระบาดในกลุ่มเสี่ยงแบบระลอกแรก แต่ขยายไปถึงคนทั่วไปในสังคม ทำให้เรามีโอกาสติดเชื้อหรือแพร่เชื้อให้แก่คนอื่นๆ ในสังคมได้โดยไม่รู้ตัว

ควรระมัดระวังทั้งในหมู่สมาชิกในครอบครัว ที่ทำงาน ร้านอาหาร ตลาด ห้าง งานแต่งงาน งานศพ งานบวช วัด สถานบันเทิง แหล่งท่องเที่ยว