ใครใช้รถไฟฟ้ามีเฮ!คมนาคมเตรียมปรับลด-ยกเว้นภาษีประจำปีให้3-5ปี

คมนาคมบี้หน่วยในสังกัดเกี่ยวกับขนส่งทุกโหมด พัฒนายานยนต์ และใช้เครื่องยนต์ด้วยพลังงานไฟฟ้า แถมกระซิบ ขบ. ให้เปลี่ยนวิธีการคิดภาษีรถยนต์ใหม่เน้นจูงใจให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นทั้งกำหนดอัตราภาษีให้เหมาะสมตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เครื่องยนต์ (cc) และ ยกเว้นภาษีประจำปี 3 – 5 ปีแรก สำหรับรถไฟฟ้า

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการพัฒนายานยนต์ด้วยพลังงานไฟฟ้า ผ่านระบบทางไกล VDO CONFERENCE ว่า ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้นำเสนอในที่ประชุมทราบถึงสถานการณ์ของประเทศไทยด้านพลังงาน ว่า ในช่วงปี
39 – 62 ประเทศไทยมีแนวโน้มในการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสาขาขนส่ง
และสาขาอุตสาหกรรม เมื่อพิจารณาเฉพาะภาคขนส่ง พบว่ามีสัดส่วนการใช้น้ำมันสำเร็จรูปสูงถึง 94.8 %(โดยเป็นการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว : HSD ประมาณ 15,000 พันตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe)) รองลงมา
เป็นก๊าซธรรมชาติ 5.09 และไฟฟ้า 0.059 ตามลำดับ

ส่วนสถานการณ์ด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น สาขาขนส่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นอันดับ 2 รองจากสาขาอุตสาหกรรมพลังงาน โดยการขนส่งทางถนน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 98% รองลงมาคือ การขนส่งทางอากาศ ทางน้ำ และทางราง ตามลำดับ ส่วนเรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล พบว่า สัดส่วนฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากไอเสียดีเซล และการเผาชีวะมวล ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนายานยนต์ด้วยพลังงานไฟฟ้า สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระยะ 20 ปี (2561 – 2580) อีกทั้งยังสอดคล้องกับหลักการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน (Sustainable Transport Development) ตามแนวคิด Sustainable Transport Development หรือ A-S-I Approach ที่มุ่งเน้นในการปรับปรุงยานพาหนะสำหรับการเดินทาง ให้มีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยมลพิษ

สำหรับการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า สนข. ได้ศึกษาและจัดลำดับความสำคัญของประเภทยานพาหนะ โดยใช้มูลค่าผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า รถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่
มีมูลค่าผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ที่สูงที่สุด ดังนั้น เมื่อพิจารณาข้อจำกัดต่าง ๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยี
ยานยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย ระยะทางเดินรถ น้ำหนักและแบตเตอรี่ รวมทั้งความเหมาะสมในการใช้งาน

อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น พบว่า รถโดยสารระหว่างเมืองระยะทางวิ่งประมาณ 200-250 กม./เที่ยว และรถโดยสารสาธารณะในเมืองมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาเป็นยายนยนต์ไฟฟ้าเป็นลำดับแรก และควรมีมาตรการผลักดันและช่วยเหลือจากภาครัฐตามแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วย 1)การส่งเสริมการลงทุนให้ผู้ประกอบการแบตเตอรี่ ผลิตชิ้นส่วน และประกอบรถโดยสารไฟฟ้าผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) 2)ยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตของเซลล์แบตเตอรี่ ให้ผู้ประกอบการผลิตแบตเตอรี่ที่ได้รับการส่งเสริมผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) 3)กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าคงที่สำหรับรถโดยสารไฟฟ้า 4)การสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการตามสัดส่วนมูลค่าการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่เหมาะสม 5)การเตรียมความพร้อมด้านมาตรฐาน กฎ ระเบียบ

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ได้รับทราบการนำเสนอการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ทั้งทางถนน ทางราง และทางน้ำ ดังนั้นจึงมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยให้ ขบ. เร่งรัดดำเนินการเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนวิธีการคิดอัตราภาษีรถยนต์ โดยส่งเสริมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น กำหนดอัตราภาษีให้เหมาะสมตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และขนาดของเครื่องยนต์ (cc) และ ยกเว้นภาษีประจำปี 3 – 5 ปีแรก สำหรับรถไฟฟ้า (BEV)

นอกจากนั้นได้มอบให้ กรมเจ้าท่า (จท.)พัฒนาและส่งเสริมการใช้เรือไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยให้ครอบคลุมทั้งมิติ
การขนส่งมวลชนและการท่องเที่ยว ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือและขับเคลื่อนไปพร้อมกับภาคเอกชน
เพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งศึกษาและรวบรวมข้อกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้อง ตามหลักธรรมาภิบาล นอกจากนั้นให้กรมการขนส่งทางราง ( ขร.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย( รฟท.) เร่งรัดดำเนินการในการนำระบบ EV พลังงาน Battery on Train
มาใช้กับรถไฟไทย รวมทั้งศึกษาและรวบรวมข้อกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้อง ตามหลักธรรมาภิบาล

ทั้งนี้ยังได้ให้ สนข. ประสานและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน ในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า โดยเบื้องต้นให้ประสานกระทรวงพลังงาน ในการเตรียม
ความพร้อมและสำรวจปริมาณความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ เพื่อรองรับการใช้พลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต