โอกาสดี “เงาะไทย” จะส่งออกต่างประเทศได้มากขึ้น ชูนวัตกรรมใหม่แก้ปัญหาผลเน่าเสีย

  • กรมวิชาการเกษตร ปลื้มพัฒนานวัตกรรมยืดอายุการเก็บรักษาเงาะ
  • แก้ปัญหาเปลือก และขนเงาะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ผลไม่เน่าเร็ว 
  • หนุนใช้ชีวภัณฑ์แบคทีเรียคุมโรคเน่าแทนสารเคมี   

..เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตรวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชะลอเปลี่ยนสีของเปลือกและขนเงาะโรงเรียน โดยพบว่าอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษา ทั้งนี้การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการขนส่งและการเก็บรักษาสามารถช่วยควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในระหว่างการขนส่งและการเก็บรักษาให้คงที่และลดการสูญเสียน้ำ เมื่อเก็บเกี่ยวเงาะระยะสามสี คือ เปลือกยังเป็นสีแดงอ่อนและขนเงาะยังเป็นสีเขียว รวมทั้งตัดขั้วผลเงาะให้ชิดผลด้วยกรรไกรแทนการปลิดด้วยมือจะลดการเข้าทำลายของเชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคผลเน่าหลังการเก็บเกี่ยวได้ จากนั้นล้างผลเงาะด้วยน้ำสะอาดและแช่ในชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus amyloliquefaciens  DL9 อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร นาน 5 นาที ทำให้ผลเงาะไม่เน่าง่ายและปลอดภัยต่อผู้บริโภคเนื่องจากเป็นสารชีวภัณฑ์

ทั้งนี้สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ยืดอายุผลเงาะระหว่างขนส่ง คือ ใช้วิธีถุงพลาสติกชนิด LDPE ความหนา 25 ไมครอน ซึ่งมีอัตราการซึมผ่านก๊าซออกซิเจน 10,000-12,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร/ตารางเมตร/วัน จะช่วยลดการคายน้ำของผลเงาะและลดอาการเปลือกสีน้ำตาลของเปลือกและขนเงาะได้ดี โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษาหรือขนส่งเงาะ คืออุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-95 % ซึ่งจะทำให้ผลเงาะคงสภาพสดใหม่ได้นาน  

อย่างไรก็ตาม เงาะถือเป็นไม้ผลเศรษฐกิจหลักชนิดหนึ่งของประเทศไทย โดยในปี 2562 มีปริมาณผลผลิตเงาะรวมทั้งประเทศ 280,166 ตัน แต่ที่ผ่านมาการส่งออกเงาะสดไปจำหน่ายตลาดต่างประเทศไม่ถึง 5% ของผลผลิตทั้งหมดเนื่องจากเปลือกและขนเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล และเหี่ยวแห้งได้ภายใน 3-4 วัน รวมทั้งเกิดอาการผลเน่าอย่างรวดเร็วซึ่งจากงานวิจัยดังกล่าวจึงจะช่วยให้เกษตรกร มีโอกาสส่งออกเงาะไปจำหน่ายในต่างประเทศได้มากขึ้นอย่างแน่นอน