โล่ง!บีอีเอ็มคงราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน 17-42 บาทถึงสิ้นปี 65

  • โฆษกรัฐบาลเผย กระทรวงคมนาคมเจรจาสำเร็จ 
  • “นายกฯ” กำชับทุกฝ่ายร่วมดูแลให้ประชาชน
  • รับผลกระทบน้อยที่สุดจากสถานการณ์ค่าครองชีพ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนผู้ใช้น้ำมัน และผู้โดยสารรถสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชน ล่าสุด กระทรวงคมนาคมหารือร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้รับสัมปทาน เพื่อหาแนวทางในการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะค่าครองชีพที่สูงในปัจจุบัน โดยได้คงอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือ MRT สายสีน้ำเงิน ในราคาเดิม เริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 42 บาท พร้อมส่วนลดพิเศษสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ 50% และสำหรับนักเรียน นักศึกษา 10% ของอัตราค่าโดยสารบุคคลทั่วไป ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้โดยสารไปได้อีกระยะหนึ่ง 

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารฯ สายเฉลิมรัชมงคล สายฉลองรัชธรรม และอัตราค่าโดยสารร่วม รวม 3 ฉบับ ตามนัยมาตรา 18 (13) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ ซึ่งร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. ….  มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราค่าโดยสารใหม่ตามวิธีการในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยอัตราค่าโดยสารใหม่จะมีอัตราเริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 43 บาท โดยสถานีที่ 6, 9 , 11 และ 12 ขึ้นไป จะมีอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1 บาท ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้โดยสาร จึงได้ร่วมหารือเพื่อคงค่าอัตราโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินราคาเดิมต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

“นายกรัฐมนตรีเข้าใจถึงปัญหาภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของพี่น้องประชาชน จากผลกระทบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งในปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เช่น ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อประชาชนผู้ใช้น้ำมัน และผู้โดยสารรถสาธารณะต่าง ๆ ที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายประจำวันเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับหน่วยงานและขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันดูแลประชาชนคนไทยให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้นด้วย” นายธนกรกล่าว