แบกทุเรียนขึ้นรถไฟไปขายจีนเส้นทางมาบตาพุด-คุนหมิง

  • ใช้เวลาประมาณ 4 วัน เป็นเส้นทางที่มีศักยภาพ รวดเร็ว
  • ลดระยะเวลา สามารถขนส่งได้ครั้งละหลายตู้

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ว่าที่ร้อยตรีพิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายไกรยสิทธิ์ อินทรพาณิชย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้แทนบริษัท Pan Asia Silk Road จำกัด ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการส่งออกทุเรียนทางรถไฟ (มาบตาพุด – คุนหมิง) ณ สถานีรถไฟมาบตาพุด อำเภอเมือง  จังหวัดระยอง เพื่อติดตามสถานการณ์ส่งออกทุเรียนผ่านเส้นทางรถไฟไทย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรในพื้นที่ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระยอง ด่านตรวจพืชในพื้นที่ภาคตะวันออก เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมี นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย ร่วมให้การต้อนรับ

การเปิดใช้รถไฟสายไทย – ลาว – จีน ผ่านสถานีรถไฟมาบตาพุดมายังสถานีรถไฟหนองคาย เพื่อส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทยไปจีน ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีจำนวน 135 ตู้ ทุเรียน 109 ตู้ ลำไย 26 ตู้ มูลค่า 1,000 กว่าล้านบาท โดยเฉพาะทุเรียนใต้จากจังหวัดชุมพร จะขนส่งมาโดยรถบรรทุก แล้วมาขึ้นรถไฟที่สถานีมาบตาพุด ไปยังสถานีรถไฟท่านาแล้ง จากสถานีท่านาแล้งจะมีการเปลี่ยนรถไฟ โดยใช้รถบรรทุกจากฝั่งลาว ขนส่งไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟความเร็วสูงเวียงจันทร์ใต้ ลำเลียงเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ด่านรถไฟโม่ฮาน หรือ ด่านโม่ฮาน (เปลี่ยนรถบรรทุกเข้าด่านที่บ่อเต็น)

หากเป็น คุนหมิง ยูนนาน สามารถผ่านด่านทางรถไฟโดยไม่ต้องเปลี่ยนเป็นรถบรรทุก โดยการชนส่งโดยใช้เส้นทางรถไฟนี้จะใช้เวลาประมาณ 4 วัน เป็นอีกเส้นทางที่มีศักยภาพ รวดเร็ว ลดระยะเวลา สามารถขนส่งได้ครั้งละหลายตู้ ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกต่างให้ความสนใจ เลือกใช้เป็นเส้นทางส่งออกทุเรียนไปยังปลายทางประเทศจีนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผลผลิตทุเรียนสด สามารถส่งตรงถึงมือผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทุเรียนไทยมีราคาสูงต่อเนื่องอย่างมีเสถียรภาพตลอดฤดูกาล  พร้อมกันนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ขอบคุณ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการกำกับดูแลให้ทุเรียนไทยได้รับมาตรฐานเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวจีน

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า การเปิดเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน นับได้ว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการขนส่งผลไม้ไทยด้วยระบบราง ภายใต้พิธีสารการนำเข้าส่งออกผลไม้ระหว่างไทย – จีน ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของไทย – ลาว – จีน โดยมีกรมวิชาการเกษตร กรมการค้าภายใน  กรมศุลกากร  และการรถไฟแห่งประเทศไทย ตลอดจนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ในการพัฒนารูปแบบให้บริการด้านการส่งออกด้วยการเพิ่มเส้นทางขนส่งทางบกโดยการขนส่งทางราง เพื่อลดความแออัดที่หน้าด่านนำเข้าของจีนในส่วนของรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ไปติดค้างที่หน้าด่านในช่วงที่มีผลผลิตในปริมาณมากๆ เหมือนเช่นที่ปีก่อนๆที่ผ่านๆมา เกิดความล่าช้า ผลผลิตเน่าเสีย ตู้สินค้าไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการส่งออกได้รับผลกระทบ และส่งผลมาจนถึงราคาผลผลิตทุเรียนของเกษตรกรเกิดความผันผวน