แนะ 10 ข้อสังเกต-ป้องกัน เพจหน่วยงานราชการปลอมระบาด

‘ตำรวจไซเบอร์’เตือนภัย’เพจ’หน่วยงานราชการปลอมระบาด ล่าสุดมิจฉาชีพปลอม’เพจตำรวจไซเบอร์ 2 เพจ’พบผู้เสียหายหลายราย ถูกหลอกให้โอนเงินค่าติดตามทรัพย์สิน พร้อมแนะ 10 วิธีสังเกต

  • พบผู้เสียหายหลายราย ถูกหลอกให้โอนเงิน
  • เปิด 10 ข้อสังเกต-ป้องกันเพจปลอม
  • ชี้หากมีการให้โอนเงินไปยังหน่วยงานเป็นมิจฉาชีพแน่นอน

30 กรกฎาคม 2566 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (โฆษก บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากระบบศูนย์บริหารการแจ้งความออนไลน์ และสายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 พบผู้เสียหายหลายรายร้องเรียนว่าถูกมิจฉาชีพหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคล และหลักฐานทางคดี อาจจะถูกนำไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ หรือผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายได้ตรวจสอบพบและติดต่อไปยังเพจเฟซบุ๊กหน่วยงานในสังกัด บช.สอท. หรือตำรวจไซเบอร์ จำนวน 2 เพจ ได้แก่ 1.เพจที่ใช้ชื่อว่า ” ตำรวจไซเบอร์ 2 ” และ 2.เพจที่ใช้ชื่อว่า “กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 – CCID5” ซึ่งมิจฉาชีพได้ปลอมขึ้นมาและตั้งชื่อให้เหมือนกับเพจเฟซบุ๊กจริง ใช้การโฆษณาเพื่อเข้าถึงเหยื่อเป้าหมาย หลอกลวงให้ผู้เสียหายที่ไม่ทันได้สังเกตที่ติดต่อเข้ามาแล้วหลอกลวงสอบถามเอาข้อมูลต่างๆ

เริ่มจากสอบถามว่ามีเรื่องใดให้ช่วยเหลือ ถูกหลอกลวงหรือถูกโกงเรื่องใด มูลค่าความเสียหายเท่าใด ไปจนถึงขอหลักฐานทางคดีที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานการพูดคุยกับคนร้าย หลักฐานการโอนเงินไปยังบัญชีคนร้าย แพลตฟอร์มที่ถูกหลอกลวง เป็นต้น รวมไปถึงมีการใช้ตราสัญลักษณ์ของ บช.สอท. ภายในเพจลักษณะดังกล่าวยังมีเนื้อหารูปภาพและข้อความจากเพจจริงมาใช้

ต่อมามิจฉาชีพจะให้เพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์เพื่อไปติดต่อกับทนายความปลอม ชื่อบัญชี “ทนายอนันต์ชัย” ไอดีไลน์ “anantchat41” ที่อ้างว่าสามารถช่วยเหลือ และติดตามหรือกู้คืนทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไปกลับคืนมาได้

จากนั้นจะมีการให้เพิ่มเพื่อนทางไลน์เพื่อไปแจ้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจปลอมยศ พ.ต.อ. อ้างว่าเป็นหัวหน้าทีม IT เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี ไอดีไลน์ “cyber00it” โดยแจ้งว่าหากอยากได้เงินคืน ต้องมีการโอนเงินเพื่อเป็นค่าดำเนินการต่างๆ และค่าทนายมาให้ก่อนถึงจะได้รับความช่วยเหลือ

เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้วก็จะถูกตัดขาดการติดต่อ โดยมิจฉาชีพอาจจะนำข้อมูลที่ได้ไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลไปแฮกบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แล้วไปหลอกยืมเงินผู้อื่น หรือโอนเงินจากบัญชีธนาคาร หรือนำข้อมูลไปขายให้กับแก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ หรือนำไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมายต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้างหน่วยงานของรัฐ หลอกลวงเอาทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนตัวของประชาชนไปแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน

ในการใช้งาน หรือเข้าถึงบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ ควรตรวจสอบช่องทางเหล่านั้นให้ดีเสียก่อนว่าเป็นของหน่วยงานนันจริงหรือไม่ ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางคดี ซึ่งมิจฉาชีพอาจใช้โอกาสหลอกเอาข้อมูลไปเเสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างได้ รวมถึงไม่หลงเชื่อเพียงเพราะมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงาน แอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงานนั้นๆ หรือมีการประกาศโฆษณา หรือมีชื่อเพจเฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ที่ตั้งชื่อคล้ายกับของหน่วยงานนั้นจริงเท่านั้น จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันเข้าสู่เพจเฟซบุ๊กปลอม ดังนี้

1.ประชาชนที่ได้รับความเสียหายในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่ https://thaipoliceonline.com เท่านั้น โดยสามารถโทรสอบถามหรือปรึกษาได้ที่ สายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 หรือ 081-866-3000 และไม่มีช่องทางไลน์ในการติดต่อ มีเพียงแชทบอท @police1441 ที่เอาไว้ปรึกษาคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี คอยให้บริการตอบคำถามประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง

2.บช.สอท. และหน่วยงานในสังกัด ไม่มีนโยบายให้ประชาชนติดต่อกับทนายความ หรือให้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี เพื่อทำการติดตามทรัพย์สินที่ถูกหลอกลวงไปกลับคืนได้

3.เพจเฟซบุ๊กของ บก.สอท.2 คือ ” ตำรวจไซเบอร์ 2 ” มีผู้ติดตามกว่า 7 พันราย สร้างบัญชีเมื่อ 28 ม.ค.64 และเพจเฟซบุ๊กของ บก.สอท.5 คือ ” กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 – CCID5″ มีผู้ติดตามกว่า 1 หมื่นราย สร้างบัญชีเมื่อ 6 พ.ย.63 และหากท่านต้องการที่จะเข้าสู่เพจดังกล่าวขอให้ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน

4.เพจเฟซบุ๊กจริงจะต้องมีเครื่องหมายถูกสีฟ้ายืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม

5.เพจเฟซบุ๊กจริง มักจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่อง รวมถึงมีจำนวนผู้ติดตามที่ไม่น้อยจนเกินไป

6.เพจเฟซบุ๊กปลอม หากตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ จะพบว่าสร้างขึ้นมาได้ไม่นาน และอาจเคยเปลี่ยนชื่อมาจากเพจอื่นที่น่าสงสัย หรือมีผู้ดูแลเพจอยู่ต่างประเทศที่ไม่ใช่ประเทศไทย

7.ไม่กรอก หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางคดี ผ่านสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก โดยเด็ดขาด

8.การพิมพ์ชื่อหน่วยงานเพื่อค้นหาเว็บไซต์ของหน่วยงานใดๆ ไม่ได้มีความปลอดภัยเสมอไป ควรเพิ่มความระมัดระวังในการสังเกตชื่อเว็บไซต์ หรือสังเกต URL อย่างละเอียด และไม่หลงเชื่อเว็บไซต์ที่มีการยิงโฆษณาของมิจฉาชีพ

9.หากพบ หรือไม่แน่ใจว่าเป็นเพจเฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ ให้ติดต่อไปยังหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง ผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ของหน่วยงานนั้น เพื่อสอบถามและแจ้งให้ทำการตรวจสอบทันที

10.หากมีการให้โอนเงินไปยังหน่วยงานที่แอบอ้างก่อนที่จะได้รับบริการใดๆ ให้สันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน