“เอสซีจี” แห่นาคฉลองรอบโบสถ์ฟันกำไรไตรมาส1ปีนี้

  • เย้ยโควิดรวม1.4หมื่นล้านบาท
  • แต่งตัวเอสซีจี เคมิคอลส์ เตรียมเข้าตลาดหุ้น
  • ชี้ระบาดระลอก3 ธุรกิจอาจสั่นคลอนในครี่งปีหลัง

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี (SCG) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1ปีนี้ว่า เอสซีจีมีกำไรสำหรับงวด 14,914 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 114% จากรายได้จากการขายที่ 122,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา15% เนื่องจากธุรกิจเคมิคอลส์ มีส่วนต่างราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4/2563พบว่าเอสซีจี มีกำไรเพิ่มขึ้น 85% เป็นการมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 26% จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ โดยธุรกิจเคมิคอลส์มีปริมาณขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการหยุดซ่อมบำรุงของโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ (MOC) ในไตรมาสก่อนหน้า และ การเริ่มผลิตของโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ เฟส 2 (MOC Debottleneck) และความต้องการบริโภคสินค้าของเอสซีจีในหลายๆประเทศทั่วโลกปรับตัวดีขึ้นทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้น ประกอบกับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น เป็นต้น

“ผลประกอบการไตรมาส 1ถือว่าเติบโตดีกว่าที่คิดไว้ เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ยอมรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก3ค่อนข้างรุนแรงทำให้มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ เพราะหลายๆ ประเทศกลับมาเกิดการระบาดอีกครั้ง เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป”

ทั้งนี้ ยังพบว่า ธุรกิจเคมิคอลส์ไตรมาส 1มีกำไรสำหรับงวด 8,829 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 397% โดยมีรายได้จากการขาย 51,607 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 35% และเอสซีจีอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้การปรับโครงสร้างธุรกิจเคมิคอลส์ รวมถึงการเสนอขายหุ้นบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ให้ประชาชนทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ เอสซีจี ถือหุ้น 100% รองรับการขยายธุรกิจเคมิคอลส์ในอนาคต เช่น ความเป็นไปได้ในการขยายกำลังการผลิตในอาเซียน และการลงทุนอื่นๆ คาดว่าการศึกษาและการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะแล้วเสร็จในสิ้นปี 2565

ล่าสุดเอสซีจียังได้ลงนามในสัญญาซื้อหุ้นบริษัท ซีพลาสต์ (Sirplaste)ซึ่งเป็น ผู้ประกอบธุรกิจและผู้นำด้านพลาสติกรีไซเคิลในประเทศโปรตุเกส ที่ สามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีรีไซเคิลในอาเซียน รวมทั้งขยายช่องทางการขายในตลาดสหภาพยุโรปได้ ในอนาคต

สำหรับความคืบหน้าโครงการขยายกำลังการผลิตของโรงงาน MOC Debottleneck (การผลิตโอเลฟินส์) ที่ประเทศไทยได้ ก่อสร้างแล้วเสร็จเร็วกว่าแผนและจะเปิดเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนพ.ค.นี้ เพื่อทำให้มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์เพิ่มขึ้น เป็น350,000 ตันต่อปี ส่วนโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่ประเทศเวียดนามคืบหน้าตามแผน 76% คาดจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งแรกของปี 2566

นอกจากนี้ ในส่วนของ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างพบว่า มีกำไร 2,809 ล้านบาท มีรายได้จากการขาย 46,185 ล้านบาท เป็นการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเอสซีจีได้ขยายตลาดหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งลูกค้ากลุ่มเจ้าของบ้าน และกลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันต่อเนื่อง ตั้งเป้ายอดขายรวม 600 ล้านบาท ในปีนี้ ส่วนธุรกิจแพคเกจจิ้ง มีกำไรสำหรับงวด 2,135 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 23% มีรายได้จากการขาย 27,253 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12% เนื่องจากความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในอาเซียน และราคากระดาษบรรจุภัณฑ์ในอาเซียนก็ ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเอสซีจีได้เปิดดำเนินการโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ ที่มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 400,000 ตันต่อปี ในประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น

#Thejournalistclub #เอสซีจี#โควิด19