“เอสซีจี” ลดเหลื่อมล้ำทั่วไทยปี’66 ทำสำเร็จแล้ว 500 ชุมชน ชูต้นแบบ 4 ความรู้คู่คุณธรรม มีงานรายได้ พึ่งพาตนเองยั่งยืน



  • “เอสซีจี” ลุยลดเหลื่อมล้ำสังคมต้นปี’66 ทำสำเร็จแล้วกว่า 500 ชุมชน 37 จังหวัด
  • ชู 4 ความรู้คู่คุณธรรมตามคำสอนในหลวงรัชกาลที่ 9 องค์ความรู้ต้นแบบแบ่งปัน
  • ส่งต่อแรงบันดาลใจเครือข่ายท้องถิ่น สร้างอาชีพยั่งยืน รายได้มั่นคง พึ่งพาตนเองได้

นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ สำนักงาน Enterprise Brand Management Office เอสซีจี เปิดเผยว่า เอสซีจีมุ่งลดความเหลื่อมล้ำสังคมด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง มีความรู้คู่คุณธรรมตามคำสอนของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ปัจจุบันได้ขยายผลแล้วถึง 500 ชุมชน กว่า 200,000 คน ใน 37 จังหวัด ทำให้คนในท้องถิ่นมีรายได้อย่างมั่นคง สร้างอาชีพที่ยั่งยืน พร้อมทั้งได้แบ่งปันองค์ความรู้ เป็นต้นแบบส่งต่อแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่น ๆ เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งด้วย 4 ความรู้คู่คุณธรรม

ประกอบด้วย 1.รู้เรา: รู้คุณค่าและพัฒนาศักยภาพของตนเอง สร้างมูลค่าจากสิ่งรอบตัว 2.รู้เขา: เข้าใจลูกค้า เข้าใจตลาดอย่างลึกซึ้ง 3.รู้จัดการ: วางแผนเพื่อการบริหารจัดการและบริหารความเสี่ยง 4.รู้รัก-สามัคคี: สร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งพร้อมช่วยเหลือและแบ่งปันซึ่งกันและกัน

โครงการดังกล่าวเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2550 นำร่องด้วยการทำฝายชะลอน้ำสร้างไปแล้ว 115,000 ฝาย พร้อมแผนบริหารจัดการน้ำชุมชน ทำให้มีน้ำกินและใช้และเพื่อการเกษตรให้มีผลผลิต สามารถต่อยอดสู่โครงการพลังชุมชนอบรมสร้างอาชีพ แปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ได้ด้วย

โดยเอสซีจีมีความเชื่อมั่นหากชุมชนลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเอง ใช้ความรู้คู่คุณธรรม มีความรักสามัคคี และบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ ใช้ความรู้และเทคโนโลยีวางแผน ทำให้มีน้ำกิน-ใช้ ทำการเกษตรและมีผลผลิตตลอดปี ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ทำให้มีรายได้ อาชีพมั่นคง เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำสังคมยั่งยืนในระยะยาวได้อย่างแน่นอน

รวมทั้งมีเสียงสะท้อนของตัวแทนแต่ละชุมชนที่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการกับเอสซี ในพื้นที่ภาคเหนือ 2 จังหวัด คือลำพูน ลำปาง ยืนยันตรงกันว่าสามารถช่วยให้คนในท้องถิ่นมีน้ำใช้ มีอาชีพ มีรายได้ และสามารถส่งต่อกลุ่มเยาวชนผู้สูงวัย ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ พึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง ตามข้อมูลดังนี้

“นางอำพร วงค์ษา” หรือ “ครูอ้อ” ศูนย์หัตถกรรมบ้านงานฝีมือผาหนาม จ.ลำพูน กล่าวว่า โครงการพลังชุมชนของเอสซีจี สอนให้เห็นคุณค่าในตัวเอง ได้ทำงานที่ตัวเองรักและถนัด คือ งานหัตถกรรม เช่น การเย็บปัก ทำดอกไม้ประดิษฐ์ ช่วยสร้างรายได้ให้ครอบครัว และแบ่งปันความรู้ให้คนที่ว่างงานและกลุ่มเปราะบางในชุมชน เช่น คนพิการผู้สูงวัย ทำงานฝีมือให้มีรายได้ มีงานทำ พึ่งพาตัวเอง รวมทั้งก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้สร้างอาชีพ เพื่อสร้างงานให้คนในชุมชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

“นางสาวเกศรินทร์ กลิ่นฟุ้ง” เจ้าของขนมแบรนด์ “แม่หนิงภูดอย” จ.ลำปาง กล่าวว่า ได้เรียนรู้แล้วนำมาปรับใช้สร้างจุดขายและอัตลักษณ์ท้องถิ่น เช่น ปรับคุ้กกี้ตัวหนอนไส้สับปะรดกลายเป็นรูปไก่ สัญลักษณ์จังหวัดลำปาง ปรับบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามน่าซื้อ เป็นของขวัญของฝาก ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน องค์การอาหารและยา (อย.) และได้เรียนรู้เทคนิคการขายผ่านช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าถึงลูกค้าทั่วประเทศ ส่งต่อการจ้างงานให้เยาวชน ผู้สูงวัยสร้างรายได้ร่วมกัน

“นายคงบุญโชติ กลิ่นฟุ้ง” ผู้ใหญ่บ้านผู้นำชุมชนบ้านสาแพะ จ.ลำปาง กล่าวว่า เอสซีจีชวนแก้ปัญหาเรื่องน้ำแล้ง-น้ำหลาก สร้างฝายชะลอน้ำ บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น ทำแก้มลิง สระพวง และระบบกระจายน้ำเข้าไร่นาปัจจุบันสามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี ทำเกษตรปราณีต เพาะเมล็ดพันธุ์พืช ช่วยสร้างรายได้เฉลี่ยเพิ่ม 4-5 เท่า ชุมชนมีรายได้เฉลี่ยปีละ 20 ล้านบาท

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen