“เอฟทีเอ”ดันไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ยางถล่มทลาย  

  • เหตุ13ประเทศยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าจากไทย
  • สร้างแต้มต่อเหนือคู่แข่ง-แนะใช้สิทธิส่งออกมากขึ้น
  • เดินหน้าลุยเจรจาอีก5ประเทศเลิกเก็บภาษีนำเข้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ยางไปทั่วโลก และประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) พบว่า  ตั้งแต่ปี 61 ไทยขึ้นแท่นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน เยอรมนี และสหรัฐฯ และมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มอย่างต่อเนื่องแม้อยู่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลก ส่วนในช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 62 ไทยส่งออกได้ 10,221 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 61 โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อาเซียน และออสเตรเลีย สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยางนอกที่ใช้กับยานพาหนะ ยางสังเคราะห์ และถุงมือยาง

”การมีเอฟทีเอถึง 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ คือ อาเซียน 9 ประเทศ รวมถึงจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยขายตัวเพิ่มขึ้นมาก เพราะ 13 ประเทศคู่เอฟทีเอ ไม่เก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางจากไทย เหลืออีกเพียง 5 ประเทศ คือ จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ชิลี และเปรู ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางจากไทยบางรายการ แม้วส่วนใหญ่ยกเลิกเก็บแล้ว”

สำหรับสหรัฐฯ แม้ไม่ใช่คู่เอฟทีเอของไทย แต่ที่ผ่านมา ไทยได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากสหรัฐอเมริกา อีกทั้งสหรัฐฯยังนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นแทนจากจีน จากผลกระทบของสงครามการค้า ดังนั้น การผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มเติม ผ่านการทบทวนเอฟทีเอที่มีอยู่ในปัจจุบัน การหาข้อสรุปเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา รวมถึงการเปิดเจรจาเอฟทีเอใหม่ๆ เช่น สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สมาคมการค้าเสรียุโรป (เอฟต้า) เป็นต้น จะมีส่วนสำคัญในการสร้างแต้มต่อผลิตภัณฑ์ยางไทยในตลาดโลก

ดังนั้น ต้องการให้ผู้ส่งออกไทย นำเรื่องการที่ประเทศผู้นำเข้าลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรผลิตภัณฑ์ยางจากไทยภายใต้เอฟทีเอ มาเป็นปัจจัยประกอบการพิจารณาเลือกตลาดส่งออก และเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยด้วย