เอฟทีเอดันไทยขึ้นแท่นเบอร์ 1 ส่งออกไก่สดแช่ แข็ง – แปรรูปไปญี่ปุ่น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศ พบว่า ความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอที่ไทยมีกับญี่ปุ่น 2 ฉบับ คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ญี่ปุ่น (AJCEP) เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูปอันดับ 1 ของญี่ปุ่น รวมถึงการส่งออกสินค้าดังกล่าวยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี แม้ 2 ประเทศอยู่ในช่วงภาวะวิกฤติจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้สินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูปเป็นสินค้าที่ญี่ปุ่นไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับไทยมีเอฟทีเอกับญี่ปุ่นเป็นแต้มต่อ โดยญี่ปุ่นลดภาษีนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยเหลือ 0-8.5% และลดภาษีนำเข้าไก่แปรรูปเหลือ 0-3% ทำให้ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2563 ไทยส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไปญี่ปุ่นเป็นมูลค่าสูงถึง 66.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 58.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และส่งออกไก่แปรรูปมูลค่า 234.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.2 %จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ขณะที่ปี 2562 ไทยส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูปไปญี่ปุ่น มูลค่า 1,764.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.18 % เมื่อเทียบกับปี 2561 รองลงมา คือ บราซิล มูลค่าการส่งออก 873.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และจีน การส่งออก 834.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนั้นในปัจจุบัน JTEPA มีผลให้ญี่ปุ่นยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจากไทย 88.1% ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น กุ้ง ปลาหมึก ผักและผลไม้สดและแห้ง ผักและผลไม้แปรรูป อาหารทะเลสำเร็จรูป ไก่ต้มสุก อัญมณี สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เคมีภัณฑ์ รองเท้าและเครื่องหนัง เป็นต้น

ขณะที่ AJCEP ทำให้ญี่ปุ่นยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจากไทยแล้ว 90.16 % ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น ผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง กุ้ง ปู ปลาหมึกยักษ์แช่แข็ง/แปรรูป และแมงกะพรุน ปลาปรุงแต่ง ผักผลไม้กระป๋อง/แปรรูป น้ำผลไม้ ซอสปรุงรส เครื่องแกง สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณี ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องหนัง เป็นต้น

นางอรมน กล่าวต่อว่า โดยในปี 2562 ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นโดยใช้สิทธิ์เอฟทีเอ 2 ฉบับ รวมมูลค่า 7,456.30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 91.9 % ของมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ และนำเข้าจากญี่ปุ่นโดยใช้สิทธิ์เอฟที 2 ฉบับ รวมมูลค่า 7,909.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 46.5 % ของมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิ์