“เศรษฐา”รับคิดถูกบีบตั้งรบ.ข้ามขั้ว ถ้า“เพื่อไทย”ตั้งรัฐบาลม.112ต้องไม่มี

“เศรษฐา ทวีสิน”ยอมรับว่ามีความคิดเรื่องการถูกบีบให้ตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว  และชัดเจนว่าถ้า“เพื่อไทย”ได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลม.112ต้องหลุดออกไป

  • การเสนอชื่อนายกฯครั้งต่อไปการแก้ไขมาตรา 112 ต้องไม่อยู่ในเงื่อนไข
  • ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากสว.และอีกหลายพรรคการเมือง

นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเสนอชื่อตนเองโหวตนายกรัฐมนตรีว่า ต้องรอกรรมการบริหารพรรคเคาะชื่อที่จะเสนอโหวตนายกรัฐมนตรีในสภาว่าเป็นใครเพราะพรรคเพื่อไทยมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 คน คือตนเอง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายชัยเกษม นิติสิริ และยังมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากอีกหลายพรรคที่มีความพร้อม ซึ่งแนวทางร่วมการทำงานต่อไปและแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือไม่อย่างไรต้องพูดคุยกันใน 8พรรคร่วมตั้งรัฐบาล

นายเศรษฐากล่าวว่า สำหรับการเสนอชื่อโหวตนายกรัฐมนตรีชื่อใดแล้วทำได้ครั้งเดียวถือเป็นบรรทัดฐาน ดังนั้นครั้งต่อไปต้องคิดให้ดี เจรจาให้เหมาะสม  และมีความชัดเจนว่าพรรคที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในครั้งต่อไป เรื่องการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ต้องไม่อยู่ในเงื่อนไข ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากสว.และอีกหลายพรรคการเมือง ถ้าพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะมีความชัดเจนว่าเรื่องมาตรา 112 ต้องหลุดออกไป

เมื่อถามว่าหากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จะหาพรรคมาร่วมเพิ่มขึ้นไหมเพื่อให้เสียงเพิ่มมากขึ้น นายเศรษฐาตอบว่า เรื่องนี้ล้ำหน้าไปนิดหนึ่ง ต้องให้เกียรติทั้ง 8 พรรคก่อน ซึ่ง 8 พรรคในปัจจุบันก็มีเสียงมากอยู่แล้วแต่ว่าก็ต้องมานั่งพูดคุยกันอีกทีว่าจะตกลงกันอย่างไร อย่างไรเสียงสว.250เสียงก็มีความสำคัญที่จะนำมาโหวตเพื่อให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นภาคส่วนที่สำคัญมาก ถ้าหลักการตกลงกันได้และพูดคุยกันรู้เรื่องเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนที่ดีจากสว. แต่อย่าเพิ่งข้ามขั้นเพราะวันนี้ยังมีเอ็มโอยูอยู่ต้องให้เกียรติทีมเจรจาว่าจะทำอย่างไรต่อไป แล้วค่อยพิจารณาว่าขั้นตอนต่อไปเราจะไปอย่างไรและไปกับใคร

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดหรือไม่ว่าเกมต้องบีบให้ตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว นายเศรษฐากล่าวว่า ถ้าไม่ต้องตอบคำถามนี้ ยังไงก็ต้องคิดอยู่แล้วเป็นธรรมดา ไม่ได้เป็นโจทย์ที่ซับซ้อนมาก แต่ว่าที่สำคัญที่สุดคณะกรรมการบริหารพรรค และคณะร่วมเจรจาซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจต้องพิจารณาให้ดี ส่วนเราเองมีหน้าที่ต้องทำต่างกันไป ตนเองมีหน้าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต้องเตรียมพร้อมในแง่ของเศรษฐกิจที่พรรคมอบหมายมา ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือแกนนำก็ตาม เป็นความรับผิดชอบที่ยังทำอยู่

“8พรรคยังร่วมกันอยู่การที่จะมีการเปลี่ยนแปลง การข้ามขั้ว หรือการเอาพรรคอื่นมาเสริม ต้องให้เกียรติกับผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ไปเจรจา ใจเย็นๆยังมีอีกหลายวันกว่าจะถึงวันที่ 27 ก.ค. คอยกันมานานแล้ว ให้รออีกนิดหนึ่ง แต่ว่าจะทำอะไรก็ต้องให้เกียรติพรรคร่วมที่ทำงานกันมาพอสมควรเหมือนกัน ผลการโหวตเมื่อวานนี้ก็น่าผิดหวัง แต่ก็ต้องเดินต่อไป”นายเศรษฐากล่าว

เมื่อถามว่าจะจับมือกับพรรคก้าวไกลจนสุดทางหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าสุดทางคืออะไร สุดทางนี้คือการที่พรรคก้าวไกล ไม่สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้แล้ว นี่ถือว่าสุดทางหรือไม่ ก็ต้องฝากไปยังคณะเจรจาทั้ง 8 พรรคว่าสุดทางหรือยัง ถ้าเกิดสุดทางแล้วต้องพิจารณาว่าพรรคที่มีคะแนนลำดับ 2 จะได้รับการมอบหมายหรือไม่ จะตกลงกันได้หรือไม่ ก็อยากให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี เพราะอย่างไรเราก็ร่วมอุดมการณ์กันอยู่ดีที่อยากให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า