“เลขาฯสมช.” รับอาจไม่ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ครอบคลุม

  • นายกฯให้เตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว
  • เตรียมปรับศบค.เป็นคณะทำงาน

วันที่ 6 ก.ย.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศปก.ศบค.  กล่าวถึงกระแสข่าวพิจารณายกเลิกพระราชกำหนดฉุกเฉิน โดยระบุว่า ทุกอย่างเป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้า ซึ่งนโยบายของนายกรัฐมนตรีและศบค. ให้มีการเตรียมการไว้อยู่แล้ว ซึ่งทราบดีว่าสังคมไม่สบายใจกับเรื่องนี้ ซึ่งจะเห็นว่าห้วงเวลาที่ผ่านมาเราอยู่กับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แทบจะไม่รู้สึกด้วยซ้ำ เพราะใช้เฉพาะมาตรการควบคุมโรคติดต่อเท่านั้น ซึ่งก็ต้องมีวันสิ้นสุด เป็นการเตรียมการไว้เท่านั้น ส่วนจะให้สิ้นสุดเมื่อใดต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล และศบค.

พล.อ.ณัฐพล ยอมรับว่ามีกฎหมายอื่น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพยายามปรับปรุงและพัฒนาพ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้ตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคได้ ซึ่งหากกฎหมายนี้เสร็จสิ้นก็พร้อมที่จะมาแทนพ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ และพร้อมที่จะปรับไปใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไข

ผู้สื่อข่าวถามว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่ขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะครบกำหนดในสิ้นเดือนนี้ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ถ้าสถานการณ์ทรงๆแบบนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่จะไม่ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนดีพอสมควร และประชาชนเองก็มีความเข้าใจบ้างแล้ว แม้จะมีภาคเอกชนหรือประชาชนส่วนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามมาตรการ แต่ในภาพรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ถ้าอยู่ในระดับนี้ต่อไป หรือดียิ่งขึ้นก็สามารถที่จะพิจารณาได้ ความจริงแล้วไม่ใช่ตัวตัดสินว่าจะใช้พ.ร.กฉุกเฉินหรือไม่ใช้ หรือสถานการณ์ก็ไม่ใช่ตัวตัดสินทีเดียว เพียงแต่เป็นปัจจัยในการพิจารณาเท่านั้น ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ศบค. และรัฐบาลด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน  ศบค.ต้องจบภารกิจไปด้วยหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า หากไม่ได้บังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศบค. ก็ต้องจบภารกิจไป แต่ไม่ได้จบหรือหายไปจากวงจร หรทือจากระบบ อาจจะแปรสภาพเป็นระบบอื่นที่มีกฎหมายใหม่รองรับได้ ซึ่งกฏหมายใหม่ที่จะรองรับนี้ ทางรัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะต้องสามารถตอบโจทย์หรือสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ เพราะเราแก้ปัญหาโควิดมาเกือบ 2 ปีแล้ว เราทราบดีว่าอะไรคือปัญหา กฏหมายทุกฉบับทางสภาและรัฐบาลต้องพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากอะไร เพราะฉะนั้นการออกกฎหมายก็ต้องรองรับและแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านั้นได้ ขอประชาชนอย่าเป็นห่วงว่าหากไม่มี ศบค. แล้วจะสามารถรับมือได้โควิดได้หรือไม่ ขอยืนยันว่ากฎหมายใหม่สามารถรับมือได้อย่างแน่นอน

พล.อ.ณัฐพล กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กฎหมายใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยหากระงับการบังคับใช้พ.ร.ก.ในช่วงนี้กฎหมายเก่าที่มีอยู่ไม่เพียงพอ แต่กฎหมายใหม่นั้นสามารถรองรับสถานการณ์ได้ ด้วยประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาตนคิดว่าเพียงพอ และบางทีอาจดีกว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยซ้ำ เนื่องจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินมีแต่ความเข้ม  แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ในทุกกรณี  แต่กฎหมายใหม่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกกรณี เนื่องจากได้รับการเสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ที่ทราบเรื่องดีที่สุดว่าอะไรคือปัญหาและอะไรที่ต้องแก้ไขปัญหา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีแต่ความแข้มแข็งแต่ไม่ได้ตอบโจทย์ และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เราใช้ในทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นภัยอะไรก็ตาม แต่พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไข จะตอบโจทย์ในเรื่องของโรคติดต่อ

โดยหากไม่มีการขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป ซึ่งจะหมดในช่วงสิ้นเดือนนี้ ขณะที่กฎหมายใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ จะทำอย่างไร เลขาฯสมช.กล่าวว่า ก็ต้องมาพิจารณากันอีกที แต่ทางรัฐบาลเองก็ยังเร่งรัดอยู่ เพราะทราบดีถึงกระแสสังคม แม้ว่าที่ผ่านมาการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการในการคบมคุมโรคไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อประชาชนมากมาย แต่ทราบดีว่าในแง่ของความรู้สึกแล้วประชาชนไม่ค่อยสบายใจกันซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ จึงพยายามเร่งรัดในการปรับปรุงกฎหมายใหม่ฉบับนี้ให้ทัน แต่หากถึงเวลาจริงๆแล้วไม่ทันก็ค่อยมาว่ากันอีกที แต่อย่างที่บอกว่าเป็นแผนที่เราต้องเตรียมไว้ ไม่ใช่ว่าพอทราบว่าจะมีกฎหมายใหม่มาสัปดาห์หน้าแล้วจบภารกิจเลยก็จะทำให้กระทรวงสาธารณสุขซึ่งจะต้องรับช่วงต่อเตรียมการไม่ทัน ทางศบค. หรือศปก.ศบค.ก็อยากเตรียมการเอาไว้ให้พร้อม เมื่อรัฐบาลสั่งเราก็สามารถส่งมอบได้ทันที
เพราะเพียงแค่แปรสภาพศบค.เท่านั้นเอง

ส่วนรูปแบบการแปรสภาพจะเป็นอย่างไรก็คงแล้วแต่กระทรวงสาธารณสุขและทีมงานของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่าจะใช้รูปแบบศบค.ปัจจุบันไปประยุกต์ใช้ หรือจะใช้แบบอื่นเลย