เรื่องที่ควรรู้ก่อนไป…บริจาคโลหิต

  • ตรวจคุณสมบัติก่อนบริจาคโลหิต
  • บริจาคได้ทุก 3 เดือน
  • เชิญชวนคนรุ่นใหม่ร่วมบริจาค “พลังเลือดใหม่ ต่อพลังชีวิต”

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ชัยเวช นุชประยูร ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย          และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า การบริจาคโลหิต คือ การสละโลหิตส่วนเกินที่ร่างกายยังไม่จำเป็นต้องใช้ เพื่อให้กับผู้ป่วย ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาค เพราะร่างกายแต่ละคนจะมีปริมาณโลหิตประมาณ 17-18 แก้วน้ำ แต่ร่างกายใช้เพียง 15-16 แก้วเท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นสามารถบริจาคให้ผู้อื่นได้ โลหิตสามารถบริจาคได้ทุก 3 เดือน 

เพราะเมื่อบริจาคโลหิตออกไปแล้ว ไขกระดูกจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทนให้มีปริมาณโลหิตในร่างกายเท่าเดิม ถ้าไม่ได้บริจาค ร่างกายจะขับเม็ดโลหิตที่สลายตัว เพราะหมดอายุออกมาทางปัสสาวะ อุจจาระ กระบวนการบริจาคโลหิตตั้งแต่เริ่มลงทะเบียน จนกระทั่งบริจาคโลหิตเสร็จสิ้น ใช้เวลาประมาณ 20 นาที ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเลือกเจาะโลหิตที่เส้นโลหิตดำ บริเวณแขน แล้วเก็บโลหิตบรรจุในถุงพลาสติก(BLOOD BAG) ตั้งแต่ 350-450 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้บริจาค

ความจำเป็นต้องใช้โลหิต โลหิต 77% ที่ได้รับบริจาคถูกนำไปใช้เพื่อทดแทนโลหิตที่สูญเสียไปในภาวะต่างๆอาทิ อุบัติเหตุ การผ่าตัด โรคกระเพาะอาหาร การคลอดบุตร ฯลฯ อีก 23 % เป็นการนำโลหิตไปใช้เฉพาะโรคเลือด อาทิ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เกล็ดโลหิตต่ำ ฮีโมฟีเลีย เป็นต้น การได้มีโอกาสบริจาคโลหิต จึงนับเป็นการช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยได้มีชีวิตใหม่และกลับไปอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข

คุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิต มีดังนี้

• อายุ 17 ปี บริบูรณ์ – 70 ปี สุขภาพร่างกายสมบูรณ์ โดยผู้บริจาคโลหิต อายุ 17 ปี บริบูรณ์ ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง สำหรับผู้บริจาคโลหิตประจำสามารถบริจาคได้จนถึงอายุ 70 ปี ส่วนผู้บริจาคที่มีอายุมากกว่า 60 -65 ปี บริจาคได้ทุก 3 เดือน (บริจาคได้ทั้งที่ศูนย์บริการโลหิตฯและหน่วยเคลื่อนที่) สำหรับผู้บริจาคที่มีอายุมากกว่า 65 -70 ปี บริจาคได้ทุก 6 เดือน (บริจาคได้เฉพาะที่ศูนย์บริการโลหิตฯ เพราะต้องมีการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดก่อนการบริจาค)

• น้ำหนัก 45 กิโลกรัม ขึ้นไปไม่เจ็บป่วย หรืออยู่ในระหว่างรับประทานยารักษาโรค เช่น ยาแก้อักเสบ ต้องหยุดยาแล้วอย่างน้อย 7 วัน

  • ไม่มีประวัติการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี หรือไวรัสตับอักเสบ ซี

• ไม่มีประวัติการเป็นโรคหัวใจ โรคตับ โรคปอด โรคเลือด โรคมะเร็ง หรือมีภาวะโลหิตออกง่ายและหยุดยาก

• ผู้ที่เป็นโรคมาลาเรีย ให้งดบริจาคโลหิตเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี

• ไม่อยู่ในภาวะน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทราบสาเหตุในระยะเวลา 3 เดือน ที่ผ่านมา

• ไม่ทำการสัก หรือเจาะผิวหนัง เช่น เจาะสะดือ เจาะจมูก ฯลฯ ภายในระยะเวลา 12 เดือน

• ไม่มีประวัติติดยาเสพติด หรือเพิ่งพ้นโทษในระยะ 3 ปี

• ผู้บริจาคโลหิตที่ได้รับการผ่าตัดใหญ่ งดบริจาคโลหิต 6 เดือน ผู้บริจาคโหลิตที่ได้รับการผ่าตัดเล็ก งดการบริจาคโลหิต 7 วัน หากได้รับโลหิตจากการรักษา ให้งดการบริจาคโลหิต 1 ปี

• ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ อาทิ มีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่ของตน มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน เป็นต้น

• สตรีหลังคลอด ให้นมบุตร แท้งบุตร ต้องเว้นการบริจาคโลหิต อย่างน้อย 6 เดือน (ไม่รับบริจาคโลหิตจากผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์)

• สตรีอยู่ระหว่างมีประจำเดือน สามารถบริจาคโลหิตได้ มีประจำเดือนไม่มากกว่าปกติ ร่างกายทั่วไปสบายดีไม่มีอาการอ่อนเพลียใดๆ (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้คัดกรอง)

ทั้งนี้โลหิตที่มีคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยชีวิตของผู้ป่วยได้ ทั้งในรูปโลหิต ส่วนประกอบของโลหิต และผลิตภัณฑ์โลหิต โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประมาณการใช้โลหิตแต่ละประเทศไว้ว่า ควรมีโลหิตและผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการใช้แต่ละประเทศคือ 3% ของจำนวนประชากรสำหรับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2562 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติมีเป้าหมายการจัดหาโลหิต 2,500,000 ยูนิตต่อปีโดยในเขตกรุงเทพมหานครต้องจัดหาโลหิตให้ได้อย่างน้อย 700,000 ยูนิตต่อปี และอีก 1,800,000 ยูนิต ต่อปีเป็นการจัดหาในส่วนภูมิภาค ปัจจุบันปริมาณการเบิกใช้โลหิตเพิ่มขึ้น 8-10 % ทุกปี

ด้วยเหตุนี้ศูนย์ฯจำเป็นต้องรณรงค์จัดหาโลหิตคุณภาพให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในแต่ละปี ซึ่งหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นผู้บริจาคโลหิตที่มีคุณภาพได้แก่ กลุ่มนักศึกษาและเยาวชนเพราะเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและมีโลหิตที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังสามารถบริจาคได้อย่างต่อเนื่องยาวนานหากดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ที่สำคัญพบว่ามีนักศึกษาและเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เคยบริจาคโลหิต ศูนย์ฯจึงต้องมุ่งรณรงค์ให้เยาวชนกลุ่มนี้เข้ามาเป็นผู้บริจาคโลหิตรายใหม่เพิ่มมากขึ้นผ่านการสร้างพันธมิตรและการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ต่างๆ โดย ร่วมกับ บริษัท แบรนด์ ซันโทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด สานต่อโครงการแบรนด์ “# พลังเลือดใหม่ ต่อพลังชีวิต” (BRAND’S Young Blood 2019) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 เพื่อรณรงค์ให้กลุ่มนิสิตนักศึกษาคนรุ่นใหม่ได้เริ่มต้นเป็นผู้บริจาคโลหิตครั้งแรก และกระตุ้นให้เกิดการบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทุก 3 เดือน และส่งเสริมให้เยาวชนตระหนักถึงความภูมิใจของการเป็น “ผู้ให้” ตลอดจนเพื่อจัดหาโลหิตคุณภาพให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการใช้โลหิต สำหรับนิสิตนักศึกษา สถาบันการศึกษาที่สนใจ เข้าร่วมกิจกรรมบริจาคโลหิต รายละเอียด ได้ที่เว็บไซต์www.blooddonationthai.com หรือสอบถามได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดหาผู้บริจาคโลหิต โทร.0 2255 4567, 0 2263 9600 ต่อ1752, 1753