เมื่อโลกหมุนย้อนกลับ “RECESSION” มาเร็วกว่าที่คิด!!

หลังจากการยกเลิกมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด เมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา โดยปรับนโยบายให้สามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้ เศรษฐกิจประเทศหลักของโลกในฝั่งตะวันตก ก็เข้าสู่ช่วงของการฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 64 ที่ผ่านมา 

และเป็นผลดีต่อเนื่อง ทำให้การค้าและการส่งออกทั่วโลกฟื้นตัว ตามทิศทางการฟื้นตัวของการใช้จ่าย การเดินทางและท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และประเทศในยุโรป 

ในอีกทางหนึ่ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดี ก็ทำให้มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะมีความต้องการปริมาณการใช้น้ำมัน และพลังงานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าโภคภัณฑ์​ และราคาสินทรัพย์ต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น จุดประกายให้ “อัตราเงินเฟ้อ” ซึ่งเคยอยู่ในระดับต่ำมากๆ กลับมาเร่งตัวเพิ่มขึ้น

การใช้จ่ายและการลงทุนที่อั้นไว้ในช่วงโควิด -19 ในหลายๆ ประเทศเหล่านี้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับรัฐบาลยังส่งแรงกระตุ้นเศรษฐกิต่อเนื่อง ทำให้ภายในไม่ถึงปี มูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในประเทศฝั่งตะวันตก ก็กระโดดกลับขึ้นมาเท่ากับหรือสูงกว่าช่วงก่อนที่มีการเกิดโรคโควิด-19 เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา หรือสูงกว่าปี2562 

และการฟื้นตัวที่ร้อนแรงนี้ ส่งผลให้ทุกคนเห็นภาพของการเร่งตัวของ “อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเร็วกว่าการคาดการณ์ไว้!!!

เพื่อชะลอความร้อนแรงดังกล่าว ธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเงินเฟ้อไม่ให้หลุดการคาดการณ์ในระยะปานกลาง  

ทั้ง ธนาคารกลางเกาหลีใต้ ซึ่งเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เช่นเดียวกับ อังกฤษ ฮ่องกงและออสเตรเลีย ขึ้นดอกเบี้ยไตรมาสที่ 2 ปี2565 นี้เช่นกัน ขณะที่ไต้หวัน ขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนในไตรมาสแรกปีนี้  ส่วนธนาคารกลางยุโรป มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และไทยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 3 ปีนี้

การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว ทำให้เม็ดเงินลงทุนในโลกเกิดความผันผวน และไหลกลับเข้าไปในตลาดเงินสหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเทียบกับทุกสกุลในโลก 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จากผลกระทบจากการเกิดสงครามในยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ซึ่งส่งผลร้ายแรงให้ราคาพลังงาน และราคาปุ๋ยพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นวิกฤตราคาอาหาร และราคาพลังงานของโลก 

ทำให้ค่าครองชีพของทุกประเทศให้ปรับเพิ่มสูงขึ้น กลายเป็นตัวเร่งให้ “อัตราเงินเฟ้อ” ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์

ส่งผลนักวิเคราะห์จำนวนมาก มองว่า ประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษ ประเทศในสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ อาจจะไม่สามารถคุมเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นได้อยู่หมัด หรือหากต้องการคุมให้อยู่หมัดจริง อาจจะต้องใช้ยาแรง ซึ่งจะส่งผลให้ดอกเบี้ยในตลาดการเงินถูกระชากขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทบถึงต้นทุนการผลิต ต้นทุนของการซื้อขายสินทรัพย์ในตลาดทุน รวมทั้งเกิดผลทางจิตวิทยา ให้เกิดการลดการใช้จ่าย และลงทุน ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงแรวกว่าที่คาด หรือ Hard Landing

และเราได้เห็นจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับผลกระทบทางจิตวิทยา และความเชื่อมั่นที่ลดลงนำหน้าเศรษฐกิจจริง ส่งผลให้ ราคาสินทรัพย์ ทิศทางการใช้จ่ายและการลงทุนชะลอลงเร็วกว่าขณะที่ฝั่งอุปทาน หรือฝั่งการผลิตยังปรับตัวตามไม่ทัน 

ส่งผลให้ “RECESSION” หรือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐมาเร็วกว่าคาด โดยล่าสุดภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ของสหรัฐฯ ติดลบต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค และสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง

โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 2.1% ในไตรมาส 2 ปี 2565 จากเดิมที่บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มหดตัว1.0% หมายความว่า เศรษฐกิจสหรัฐไตรมาสที่ 2 นี้จะหดตัวรุนแรงกว่าไตรมาส 1 ซึ่งหดตัว 1.6% และเป็นสัญยาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวติดลบ แต่เฟดยังต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เดือนล่าสุดอยู่ที่ 8.6% โดยเฟดมองว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้จะช่วยกระตุกเงินเฟ้อลงได้ หลังจากที่เห็นการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาดเล็กน้อยในเดือนที่ผ่านมา 

และหากเฟด “เอาอยู่” จริง โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 จะกลับมาฟื้นตัวต่อก็เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเงินเฟ้อยังพุ่งขึ้นแรงต่อเนื่อง ก็จะเป็นอีกช่วงเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของทั้งเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ย้อนกลับมา  “ประเทศไทย” เราอยู่ตรงไหนของวัฎจักรนี้ ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการกลับเข้าสู่ “RECESSION” ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ 

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลกเป็นหลักทั้งการส่งออก และการท่องเที่ยว การส่งออกที่ฟื้นตัวทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ส่วนหนึ่ง ขณะที่อีก 2 ส่วนที่มาจากการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวดี ดังนั้น การฟื้นตัวของเรายังคงไปช้าๆ  ตามไม่ทันทั้งวัฎจักร การฟื้นตัวและชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก 

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงาน และอาหารโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อค่าครองชีพของคนไทย รวมทั้งตลาดทุนการผลิตของภาคธุรกิจ รวมทั้งผลักให้เงินเฟ้อของไทยในเดือนมิ.ย.พุ่งขึ้นไปสูงถึง 7.66% ขณะเดียวกันค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงแรง อ่อนค่าสุดในรอบ 7 ปี ยังทำให้ราคานำเข้าพลังงานของไทยสูงขึ้น เมื่อการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และการท่องเที่ยวอยู่ในช่วงต้นของการฟื้นตัว ภาวะเช่นนี้ กระทบต่อดุลบัญชีเงินทุนและดุลบัญชีเดินสะพัด ให้ขาดดุลต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมากนี้ ยังคงเป็นที่ถกเถียงถึง ผลกระทบในทางบวกและลบต่อเศรษฐกิจไทยโดยค่าเงินบาทที่อ่อนจะมีผลต่อการนำเข้าน้ำมัน และพลังงาน รวมทั้งสินค้าจำเป็นจากต่างประเทศ เช่นปุ๋ยเคมี ให้ต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้คนไทยต้องใช้สินค้าราคาแพง และเงินเฟ้อสูง ขณะเดียวกันในอีกทางหนึ่ง ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าก็เพิ่มรายได้ให้กับคนไทย ผ่านการแปลงเงินตราต่างประเทศที่ได้จากการส่งออก และท่องเที่ยวเป็นเงินบาท และค่าเงินที่อ่อนค่า ยังจูงใจให้คนหันมาท่องเที่ยวและใช้สินค้าไทยเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ จากผลของเงินเฟ้อที่พุ่งและเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงนี้ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดคววามห่างของอัตราดอกเบี้ยไทยและดอกเบี้ยนอก และทำให้ผลตอบแทนจากการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนลดลง ไม่น่าจูงใจ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อไปได้หรือไม่ ส่วนที่สำคัญที่สุด ยังคงเป็นการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งก็คือ การส่งออก และการท่องเที่ยว ถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ถดถอยหนักเกินไป คนทั่วโลกยังมีแรงซื้อสินค้า ยังมาท่องเที่ยวไทย ปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะเตาะแตะต้วมเตี้ยมฟื้นตัวต่อไป ไม่กลับไปทรุดครั้งใหม่แน่นอน