เปิด 4 แนวทาง “ลอยกระทง 3 R” สืบสานประเพณีไทย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ใกล้ถึงเทศกาลลอยกระทงปีนี้กันแล้ว เรามาร่วมกันสืบสานประเพณีไทยที่งดงาม ทั้งจากจิตใจที่ต้องการ “ขอขมา” พระแม่คงคาที่ได้ใช้ประโยชน์จากสายน้ำมาตลอดทั้งปี และงดงามน่าหลงไหลด้วยความงามจากกระทง ดอกไม้ และแสงเทียน จนเป็นที่ประทับใจของชาวงต่างชาติ

แต่เราจะรักษาและสืบสานประเพณีนี้ ให้งดงามต่อไปอย่างไร หากการลอยกระทงแต่ละปีสร้างขยะและมลพิษเพิ่มขึ้นให้กับสายน้ำจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อช่วยกัน สืบสานประเพณีไทย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เราให้แนะนำให้คุณหลัก 3R  ซึ่งจะช่วยให้การลอยกระทงของเราไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลดขยะลงด้วย

โดย 3 R ที่ว่า ประกอบด้วย Reduce คือ การลดขนาด หรือลดจำนวนด้วยการใช้ร่วมกันReuse  คือ การใช้ซ้ำ และ Recycle คือ การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการใช้ขยะที่เกิดขึ้นให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งสามารถแปลงเป็นแนวทางที่ทำได้ง่ายๆ  4 ข้อ ดังนี้ 

ข้อแรก ใช้วัสดุที่ย่อยสลายง่าย ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ก่อนอื่นเราอยากจะเชื่อว่า  เมื่อเมีการรณรงค์เรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาหลายปี คนไทยที่จะเลือกใช้กระทงโฟม หรือกระทงพลาสติกทุกประเภทคงลดน้อยลงมากแล้ว 

แต่ขอแนะนำเพิ่มว่า ให้หลีกเลี่ยงกระทงจากแป้งมันสำปะหลัง  หรือขนมปังขนาดใหญ่ๆ  เพราะถึงแม้จะย่อยสลายและเปื่อยยุ่ยได้ง่าย แต่ก็ทำให้น้ำเน่าเสียได้เร็วเช่นกัน หากมีจำนวนมากเกินไป

หันมาใช้กระทงที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติอย่าง กาบกล้วย กาบมะพร้าว  กะลามะพร้าวหรือ  ผักตบชวา ที่แช่อยู่ในน้ำได้นาน  และง่ายต่อการเก็บกำจัด และยังสามารถนำไปทำปุ๋ยต่อได้ รวมทั้งใช้ก้านไม้กลัด แทนการใช้หมุดหรือตะปู หรือจะลอยกระทงที่ทำจากน้ำแข็ง ใส่ดอกไม้ไว้ข้างใน สวยและสลายง่ายก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี

ข้อที่ 2 ลอยกระทงร่วมกัน ลดขนาดกระทง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาครัฐได้พยายามรณรงค์ลดจำนวนกระทงลง โดยประชาสัมพันธ์ให้ลอยกระทงร่วมกัน โดยใช้สโลแกน  “1 ครอบครัว 1 กระทง บุญนำส่งให้สุขใจ” หรือ  “1 แกงค์ 1 กระทง รักมั่นคงตลอดไป” รวมทั้ง 1 คู่รัก 1 กระทง รักยืนยงไม่หลงทาง” รวมทั้งรณรงค์ให้ลดขนาดกระทงลง หรืออาจจะใช้กะลามะพร้าวเล็กๆ หรือ กระทงใส่ขนมแทนการใช้กระทงขนาดใหญ่

ข้อที่ 3 เลือกสถานที่ลอย ที่ไม่ทำลายธรรมชาติ

ถ้าเป็นไปได้ อยากให้เลือกลอยกระทงให้แหล่งน้ำธรรมชาติ เฉพาะที่มีการจัดงาน และมีระบบจัดเก็บกระทง หรือขยะที่ดี เพื่อให้การลอยกระทงของเราไม่ทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติเน่าเสีย หรือทำให้เกิดขยะที่ไม่ได้รับการจัดเก็บอย่างเหมาะสม ขณะที่ การลอยกระทงในแหล่งน้ำปิด เช่นส่วนสาธารณะที่จัดงาน ก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะสะดวกในการจัดการ จัดเก็บภายหลังงานเทศกาลเสร็จสิ้น

ข้อที่ 4 พกของใช้ส่วนตัวไปเอง ลดการสร้างขยะเพิ่มขึ้น

ถึงจะไปเที่ยวลอยกระทง แต่ก็อย่าลืมพกกระเป๋าผ้า แก้วน้ำ ขวดน้ำ หลอดส่วนตัว หรือใครมีกล่องอาหาร หรือปิ่นโตไปด้วก็ยิ่งดี  เท่ากับช่วยใช้ของที่มีแล้วซ้ำให้เป็นประโยชน์ และจะลดสร้างขยะพลาสติกใหม่ให้น้อยลงด้วย

วิธีทำกระทงน้ำแข็ง

1.เลือกขนาดขัน หรือชามที่จะทำเป็นตัวกระทง ใช้ไฟล้นก้นเทียนที่มัดรูปไว้รวมกันแล้ว ปักลงตรงกลางชาม

2.ใส่ดอกไม้ลงในชาม ตกแต่งตามต้องการ

3.เติมน้ำสะอาดลงไปตามความสูงของกระทงเราที่ต้องการ

4.โปรยดอกไม้ตกแต่งด้านบนอีกครั้ง

5.นำไปแช่ช่องฟรีซ จนกลายเป็นแข็งเข้าที่

6.เมื่อจะลอยเคาะกระทงออกจากขัน หรือชามแล้วนำไปลอยทันที 

ปล.น้ำจากดอกอัญชันจะทำให้กระทงสีฟ้าอ่อนสดใสส่วนน้ำใบเตยช่วยให้มีสีเขียวไม่สร้างพิขษภัยกับสิ่งแวดล้อม