เปิดไทม์ไลน์ “เศรษฐกิจไทยฟื้น”

ถือเป็นข่าวดีของภาคการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจไทย หลังจากวัคซีนต้านโควิด-19 ลอตแรก โดยเป็นวัคซีน “ซิโนแวค” จากจีน  2 แสนโดส และวัคซีนแอสตราเซเนกา อีก 1.17 แสนโดส รวม 3.17  แสนโดส ได้แลนด์ดิ้งแตะสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา  

และจะตามมาด้วย วัคซีนในลอตที่ 2 และลอตที่ 3 อีก  1.8 ล้านโดส ซึ่งคาดว่า จะเข้ามาภายใน 2-3 เดือนต่อจากนี้  หรือประมาณสิ้นเดือน เม.ย. หรือ พ.ค.ที่จะถึงนี้

โดยวัคซีนประมาณ 2 ล้านโดสแรกนี้ จะเริ่มกระจายวัคซีนไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ โดยเริ่มฉีคให้บุคคลากรทางการแพทย์ และบุคคลสำคัญของประเทศ กลุ่มเสี่ยง และประชากรในเมืองท่องเที่ยวประมาณในวันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นไป 

หลังจากนั้น หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่เดือน พ.ค.เป็นต้นไป วัคซีนที่สั่งไว้จะทยอยได้มาอีก 26 ล้านโดส รวมเป็น 28 ล้านโดส  โดยในระหว่างนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มจากแหล่งต่างๆ อีก 35 ล้านโดสเป็นอย่างน้อย (ส่วนนี้เรายังไม่ได้สั่งที่ไหนไว้)  ให้ครบเป้าหมายที่ตั้งไว้ 70 ล้านโดส เพื่อฉีดวัคซีนให้กับคนไทยทุกคนฟรี  

ทั้งนี้ คาดว่าตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นไป  จะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ประมาณเดือนละ 10 ล้านโดส หรือจะครบทุกคนตามเป้าหมายภายในสิ้นปี 2564

การมาของวัคซีนต้านโควิด-19 ประกอบกับ การตัดสินใจลดมาตรการเข้มงวดในการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจลง หลังจากที่รัฐบาลเห็นแนวโน้มว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในจำนวน และพื้นที่จำกัดมากขึ้นได้แล้ว

ทำให้หลายฝ่าย มีความคาดหวังว่า “เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัว” กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักขึ้น รวมถึงการกลับมาเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้ในเร็ววัน

อย่างไรก็ตาม  เส้นทางการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของคนไทยเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ยังต้องใช้เวลามากกว่าที่เราคิด 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินไทม์ไลน์ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปว่า ในภาพรวมของเศรษฐกิจไทย หากรัฐบาลควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ และธุรกิจสามารถกลับมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น เศรษฐกิจจะค่อยๆ ทยอยฟื้นตัว และในภาพรวมอาจจะเริ่มเห็นการจับจ่ายใช้สอยที่ดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัวจะช่วยการฟื้นตัวของภาคการส่งออก 

แต่การฟื้นตัวจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจจะแตกต่าง ไม่พร้อมและไม่เท่าเทียมกัน โดยแบ่งได้ดังนี้  

กลุ่มที่ 1.ธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัวแล้วในขณะนี้ ประกอบด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลกทรอนิกส์ อาหารกระป๋อง อุปกรณ์การแพทย์ ถุงมือยาง การขนส่งสินค้า และภาคการก่อสร้างที่ได้รับสัญญาจ้างจากภาครัฐ รวมทั้ง อาหารแช่เย็น แช่งแข็ง

กลุ่มที่ 2.ฟื้นตัวบ้าง แต่ยังไม่เต็มที่ แต่รายได้ได้รับผลกระทบน้อย ประกอบด้วย ภาคยายนต์ / ชิ้นส่วน และที่อยู่อาศัยแนวราบ

กลุ่มที่ 3.ฟื้นตัวบ้าง แต่ยังไม่เต็มที่ ที่ผ่านมารายได้ลดค่อนข้างมาก โดยภาคธุรกิจในส่วนนี้ มีการฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมา แต่กลับมารายได้ลดลงแรงอีกครั้งในช่วงการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ประกอบด้วย ภาคการค้า พื้นที่ค้าปลีก ร้านอาหาร รถโดยสารสาธารณะ ที่พักโรงแรมที่พึ่งนักท่องเที่ยวในประเทศ ก่อสร้างในส่วนที่เป็นขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมทั้งธุรกิจรับงานเอกชน

โดยไทม์ไลน์ของการฟื้นตัวของ 3 กลุ่มนี้ ธปท.ระบุว่า หากรัฐบาลควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของระลอกใหม่นี้ได้ และไม่ให้เกิด “ระลอกใหม่กว่า” เพิ่มเติมมาอีก จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวชัดเจนในครึ่งหลังของปี 2564 และ ภายในครึ่งปีหลังของปี 2565 โดยบางภาคธุรกิจจะเริ่มกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19

ขณะเดียวกัน  ยังมีอีก 2 ภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาหนักกว่า ภาคอื่นๆ และอาจจะไม่สามารถปรับตัวได้เท่าเทียมกับธุรกิจอื่น ทำให้ไทม์ไลน์ของการฟื้นตัวล่าช้าออกไป

กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่โควิดเข้ามาซ้ำเติมปัญหาเดิมที่อยู่แล้วจากเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ ทำให้เสียความสามารถในการแข่งขัน หรือมีจำนวนสินค้าที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ เมื่อมีโควิด-19 ทำให้การปรับตัวและการฟื้นตัวล่าช้าออกไปอีก ประกอบด้วย ธุรกิจ เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ รวมทั้ง คอนโดมิเนียมที่มีลูกค้าเป็นคนไทย

กลุ่มนี้ แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด แต่กำลังซื้ออาจจะกลับคืนมากได้ช้ากว่ากลุ่มอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว

นอกจากนั้น  ธปท.ยังระบุด้วยว่า แม้เราจะควบคุมโควิด -19 ได้ และมีการฉีดวัคซีนแล้ว ก็จะยังมี ธุรกิจกลุ่มที่ 5 ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 และยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเวลารวดเร็ว เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยวที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในส่วนที่สร้างขึ้นเพื่อขายให้ชาวต่างชาติ ธุรกิจการบินและธุรกิจขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว 

เพราะหลังจากโควิด-19 ผ่านไป วิถีชีวิตใหม่จะทำให้ความสะดวกสบายของการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ และแนวคิดจากพำนักในต่างประเทศแตกต่างออกไปจากเดิม โดยธปท.คาดว่า แม้จะมีวัคซีนแล้ว การเปิดประเทศ และรับนักท่องเที่ยวได้จำนวนมากจริงๆ นั้น จะเกิดขึ้นในช่วงปี 65 และเริ่มที่จะมีนักท่องเที่ยวกลับมาท่องเที่ยวเหมือนก่อนช่วงโควิด น่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปีของปี 65   

ทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจเหล่านี้ยืดเวลาออกไปนานกว่าธุรกิจอื่นๆที่สามารถปรับตัวรับกำลังซื้อจากในประเทศ โดยคาดว่า ธุรกิจเหล่านี้จะเริ่มฟื้นตัวในครึ่งปีหลังของปี 65 และยังไม่แน่ใจว่าจะกลับขึ้นมาดีเท่าก่อนโควิด-19 ได้จะเป็นเวลาใด

อย่างไรก็ตาม หากไม่นับการฟื้นตัวที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มทั้ง 5 กลุ่มนี้ แล้วมองในภาพรวม ธปท.ระบุว่า เราจะรู้สึกถึงการฟื้นตัวที่ชีดเจนของเศรษฐกิจไทย ในไตรมาสที่ 3  ปี 65 หรือต้องใช้เวลาคร่าวๆ จากในขณะนี้อีกประมาณ 1 ปีครึ่งหลังจากวันนี้

ทั้งนี้ เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ได้สร้างบาดแผลให้กับเศรษฐกิจไทยค่อนข้างหนัก โดยปี 63 ที่ผ่านมา หากคิดความเสียหายจากการลดลงของจีดีพีไทยเป็นมูลค่า จะพบว่า รายได้ และความมั่งคั่งของคนไทยสูญหายไปจากโควิด-19 ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านล้านบาท และมีคนว่างงาน และเสมือนการว่างงานตกค้างอยู่ไม่ต่ำกว่า 5-6 ล้านคน

ดังนั้น กว่าที่จะชดเชยมูลค่าของเม็ดเงินความเสียหาย และการเพิ่มตำแหน่งงานกลับมา ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว ธปท.ระบุว่า ยังต้องอาศัยเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษกิจของรัฐบาลอีกจำนวนมาก รวมทั้ง มาตรการเพิ่มการจ้างงานใหม่ และรักษาการจ้างงานเดิมของธุรกิจ ในขณะที่ความสามารถของนโยบายการเงิน และการคลัง เงินในกระเป๋ารัฐบาลลดลง แต่ข้อจำกัดมีมากขึ้น

หากเราหวังจะเห็นการกลับมาคึกคักของเศรษฐกิจไทย หลังมีวัคซีนแล้วในเร็ววัน เรื่องราวดังหวังนั้น อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นได้เร็วขนาดนั้น แต่ยังต้องใช้เวลาอีกนานพอควร  เวลานี้ทั้งประชาชน และภาคธุรกิจ จึงยังต้องเตรียมรับมือกับเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อน 

แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่มีเซอร์ไพร์สใด ๆ ในด้านลบ มองในแง่ที่ดี เรามีโอกาสมากขึ้นแล้ว ที่จะผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน !

#TheJournalistClub #โควิด19 #JNC#เศรษฐกิจคิดง่ายๆ