เปิดแนวทางการใช้ “Antigen Test Kit” ตรวจหาเชื้อโควิด

วันที่ 11 ก.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปัจจุบันการตรวจการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ด้วยวิธีการตรวจหารสารพันธุกรรม (Nucleic Acid Amplification Testing, NAAT ซึ่งเป็น molecular test โดยการตรวจหา Viral RNA ซึ่งการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อด้วยวิธีมาตรฐาน คือวิธี Real – time Reverse Transcription Polymerase Chain Reaction (rRT-PCR) แต่ละรอบใช้เวลา 3 – 5 ชั่วโมง โดยทั่วไปสามารถออกผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณจำนวนสิ่งส่งตรวจ จำนวนบุคลากรและเครื่องตรวจ

ทั้งนี้จากสถานการณ์ในปัจจุบันแม้มีเครือข่ายห้องปฏิบัติการ 335 แห่งที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ในบางพื้นที่ บางช่วงเวลา ยังมีปรากฎการณ์ที่มีผู้รอคิวเข้ารับการตรวจจำนวนมาก หรือไม่สามารถเข้าถึงบริการการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ได้ ทำให้การบริหารจัดการผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงไม่เป็นไปตามที่ควร คณะกรรมการตามระบบบัญชาการเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข(Emergency
Operation Center: EOC)

ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)​ จึงมีมติให้มีการกำหนดนโยบาย แนวทางการใช้การตรวจหาแอนติเจน (Rapid Antigen Test) หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า Antigen Essay หรือ Antigen Test Kit ในการตรวจการติดเชื้อไวรัส Covid-19 เบื้องต้น โดยสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงการตรวจด้วยตนเองดังต่อไปนี้

1.ชุดตรวจที่ใช้ต้องผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียนแล้วกับ อย.

2.ตัวอย่างที่ใช้ตรวจเก็บจาก nasopharyngeal, oropharyngeal, nasal swab หรือน้ำลายตามที่ชุดตรวจกำหนดและเป็นไปตามประกาศของ อย.

3.ใช้เพื่อการคัดกรองเบื้องต้นตามแนวทางที่แนะนำดังนี้

3.1 ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้ (PUI) ให้พิจารณาตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน IRT-PCR ก่อน กรณีที่มีผู้ป่วยจำนวนมากให้พิจารณาใช้ Antigen Test Kit ถ้าให้ผลบวกให้ตรวจยืนยันด้วย (rRT-PCR)

3.2 ผู้สงสัยแต่ไม่มีอาการ (Non-PUI) สามารถพิจารณาตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วย Antigen Test Kit หากผลเป็นลบแต่มีความเสี่ยงสูงมากก็ให้พิจารณาตรวจด้วย ‘RT-PCR

3.3 กรณีที่ใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ทำการตรวจด้วยตนเองเมื่อมีผลบวกให้แจ้งสถานบริการที่กำหนดใกล้บ้าน เพื่อพิจารณาดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไป

3.4 การสนับสนุนชุดตรวจและการเบิกจ่ายชุดตรวจให้เป็นไปตามที่สปสช.กำหนด

4.ส่วนการเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อ Covid -19 อาจพิจารณาร่วมกับการใช้วิธีอื่นๆ อีก เช่น การตรวจน้ำลาย, การตรวจแบบรวมตัวอย่าง (Pooled Samples), loop-mediated isothermal amplification (LAMP), Clustered Regularly Interspaced Short Palindromic Repeats (CRISPR) เป็นต้น