เปิดฉากเอเปค ซีอีโอ ซัมมิท ดึงผู้นำเอกชน 21 เขตเศรษฐกิจหารือ

  • เอกชนไทยชูความมั่นคงทางอาหาร และสุขภาพ เป็นซัพพลายเชนโลก
  • พร้อมหนุนใช้เวทีผู้นำผ่าวิกฤตโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  การประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปก (APEC CEO Summit 2022) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ วันที่ 17-18 พ.ย.65 ได้เปิดฉากขึ้นแล้ว โดยมีผู้นำและบุคคลสำคัญระดับโลก ทั้งจากภาครัฐและเอกชนจาก21 เขตเศรษฐกิจ มาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเน้นการส่งเสริมการเปิดเขตเสรีการค้าและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในทุกมิติ โดยไฮไลท์สำคัญวันที่ 17 พ.ย.65 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงาน ซึ่งนายกฯได้เน้นความร่วมมือภาคธุรกิจ 3 ประเด็นเพื่อฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด ได้แก่การนำเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว (BCG) มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การให้ธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยดูแลธุรกิจขนาดเล็ก และการสร้างอาชีพใหม่ในเศรษฐกิจดิจิทัล  

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นายเหงียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม นายกาบริเอล โบริก ฟอนต์ ประธานาธิบดีชิลี นางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ขึ้นกล่าวบรรยายหัวข้อเศรษฐกิจ ส่วนวันที่ 18 พ.ย. 65 นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส จะขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ เช่นเดียวกับ นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ตอบรับเข้าร่วมงานเช่นกัน ตลอดจนมีผู้บริหารชั้นนำซีอีโอค่ายยักษ์ระดับโลก เช่น เมตา, อเมซอน เข้าร่วม ขณะที่ตัวแทนของไทยมีกลุ่มซีพี รวมถึงธนาคารกรุงไทย เข้าร่วมบรรยายด้วย

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า แนวคิดหลักของการจัดประชุมครั้งนี้ได้เน้นการเปิดรับโอกาสสอดประสานความเชื่อมโยง ร่วมกันสร้างความเป็นไปได้ เพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด  โดยมั่นใจว่าเสถียรภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ ประกอบกับการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและสุขภาพทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางความท้าทายจากการระบาดใหญ่ของโควิดไทยได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมด้านเศรษฐกิจ และการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่พึ่งพาได้ของโลก  

นอกจากนี้ ไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี มาเป็นกลยุทธ์ในการฟื้นฟูประเทศหลังการระบาดของโควิด พร้อมกับมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตของประเทศ รวมถึงการก่อสร้างทางหลวงและมอเตอร์เวย์เพิ่มขึ้นถึง 271% ในปี 64 การสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อเมืองและศูนย์ด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิได้เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารอีก 17% เป็น 139 ล้านคน  

ส่วนนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธาน APEC CEO Summit 2022และรองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีความท้าทายทางเศรษฐกิจอีกมากที่ต้องเผชิญ เช่น สงคราม ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภาวะเงินเฟ้อ การก่อการร้าย การขาดแคลนอาหาร พลังงาน ความยั่งยืน เทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน ตลอดจนภัยคุกคามอื่น ๆ  ดังนั้น ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น  ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง เล็ก และรายย่อมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมความยั่งยืน ทางการเงิน และสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค จะเป็นพื้นฐานสำหรับการพูดคุยเพื่อนำไปสู่การหาทางออกและกลยุทธ์ต่อไป