“เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี” ทรงห่วงสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์ พร้อมเสด็จเยี่ยมชมสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ภูเก็ต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (5 ม.ค.64) เพจเฟซบุ๊กส่วนพระองค์ “HRH Princess Sirivannavari Nariratana Rajakanya” ทรงโพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ จังหวัดภูเก็ต สังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่จัดแสดงเพื่อเผยเเพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพันธุ์สัตว์น้ำใต้ท้องทะเลไทย รวมถึงแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายาก เช่น วาฬโลมา พะยูน และเต่าทะเล ซึ่งปัจจุบันได้มีจำนวนที่ลดลงเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ภายในอาคารมีส่วนจัดเเสดงซากโครงกระดูกของปลาวาฬโอมูระ โดยเมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ดำน้ำพบซากวาฬจมอยู่ในความลึกประมาณ 30 เมตร บริเวณเกาะห้าลากูน จังหวัดกระบี่พ.ศ. 2561 ทรงมีพระดำริให้กู้ซากวาฬขึ้นมาเพื่อจัดเเสดงให้เป็นประโยชน์เเก่ประชาชน

ทั้งนี้รูปแบบการจัดเเสดงเป็นภาพมัลติมีเดีย เรื่อง วาฬโอมูระ ที่มีลักษณะสำคัญตรงแผ่นซี่กรองในการกรองกินแพลงค์ตอน เช่น เคย รวมทั้งปลาขนาดเล็ก เช่น ปลากะตัก เป็นอาหาร มูลของวาฬจึงอุดมไปด้วยไนโตรเจน ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อไปให้แพลงค์ตอนผู้ผลิตขั้นต้นของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศทางทะเล

สำหรับซากวาฬถึงแม้จากโลกไปแล้ว ก็ยังมีประโยชน์ นอกจากเป็นแหล่งอาหารให้สัตว์ก้นทะเลแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตคาร์บอน ที่มากถึง 190,000 ตัน แต่คาร์บอนนี้จะถูกกักเก็บไว้ใต้ทะเลลึก ไม่ปลดปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ เหมือนอย่างควันไอเสียรถยนต์ โดยจะกลายเป็น อ่างคาร์บอน ที่ดักและกักเก็บคาร์บอนส่วนเกิน ชะลอการเกิดภาวะโลกร้อน

สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนทุกวัยที่เข้ามาเยี่ยมชม ซึ่งความรู้เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะเกิดการกระตุ้นให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้มีหัวใจรักสิ่งแวดล้อมและท้องทะเลไทย

จากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังเกาะเฮ จังหวัดภูเก็ต ทรงปล่อยลูกเต่าทะเลที่ได้รับการอนุบาลจนมีอายุได้ประมาณ 6 เดือน ปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ

ปัจจุบันเต่าทะเลถูกจัดเป็นสัตว์ทะเลที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งโดยทั่วโลกกำลังตระหนัก ถึงการลดจำนวนลงและมีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ไปในไม่ช้า โดยเฉพาะเต่าทะเลในน่านน้ำไทย ซึ่งเหลือจำนวนน้อยมาก อันเนื่องมาจากปัจจัยทั้งโดยธรรมชาติและด้วยน้ำมือมนุษย์เอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จากเต่าทะเล เช่น เนื้อ ไข่ หนัง กระดองไขมัน, การบุกรุกแหล่งวางไข่ เพื่อใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยว การทำการประมง

ส่วนโดยธรรมชาตินั้น เกิดจาก ถูกสัตว์ใหญ่กินเป็นอาหาร ขณะเป็นไข่หรือตัวอ่อน หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมในทะเลที่เปลี่ยนไป ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการลดจำนวนลงของเต่าทะเลไทยในปัจจุบันทั้งสิ้น และกว่าเต่าทะเลจะเอาชีวิตรอดและเติบโตได้นั้นต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี ที่สำคัญจำนวนเต่าทะเลที่สามารถมีชีวิตรอด จากการดำรงชีวิตแบบธรรมชาติมีเพียง 1-2 ตัว จนถึงวัยเจริญพันธุ์จาก 1,000 ตัวเท่านั้น

ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายคุ้มครองและอนุรักษ์เต่าทะเลแล้วก็ตาม จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ทุก ๆ ฝ่ายควรให้ความร่วมมือร่วมใจช่วยกันอนุรักษ์อย่างจริงจัง เพื่อให้เต่าทะเลคงอยู่สืบไปก่อนที่จะสายเกินไป