เงินเฟ้อ…เงินฝืด สำคัญอย่างไร

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป ของเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ติดลบมากที่สุดในรอบ 10 ปี 10 หรือ โดย ลดลง 3.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ต่ำที่สุดนับจากเดือน ส.ค. 2552 หลังจากที่เคยติดลบมากสุดเดือนก.ค. 2552 หลังวิกฤตซับไพรม์ที่ลดลงถึง 4.4% 

โดยเงินเฟ้อที่ติดลบติดต่อกันเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน 3 เดือน คือ เดือน มี.ค.ติดลบ 0.54% ติดลบในเดือน เม.ย.ติดลบ 2.99% และเดือนล่าสุดเดือนนี้ติดลบ 3.44%  กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิคแล้วในขณะนี้ 

ขณะที่ภาพรวมรวมเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.63) เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาติดลบ 1.04% ทำให้เงินเฟ้อทั้งปีติดลบ 0.2% ถึงติดลบ 1.0%

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ซึ่งใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงิน ระบุในทางตรงข้ามว่า ในขณะนี้ยังไม่เข้าข่ายเงินฝืดตามนิยามของการดำเนินนโยบายการเงิน 

โดย ธปท. อิงภาวะเงินฝืด ตามนิยามของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งหากจะเกิดภาวะเงินฝืด ต้องเข้าเงื่อนไข 4 ข้อ คือ  1. อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเวลานานพอสมควร 2. อัตราเงินเฟ้อติดลบกระจายในหลายๆหมวดสินค้าและบริการ 3. การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาว (ปกติดูที่ระยะ 5 ปี) ต่ำกว่าเป้าหมายระยะปานกลางอย่างมีนัยสำคัญ และ 4. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ และอัตราว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น

“หากพิจารณาตามเงื่อนไขดังกล่าว พบว่าอัตราเงินเฟ้อไทยติดลบมาเพียงสามเดือน แม้ประมาณการล่าสุดของ ธปท. จะให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ติดลบ แต่ยังมองว่าปีหน้าจะกลับเป็นบวกได้ และเป็นการติดลบจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 5 ปี อยู่ที่1.8 %ต่อปี ถือว่าใกล้เคียงกับกึ่งกลางของช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. ที่ 1-3%”

อย่างไรก็ตาม ธปท.ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ในช่วงต่อไป หากเศรษฐกิจไทยหดตัวลึกหรือฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินมาก

แต่ก่อนที่จะตัดสินใจกันว่า ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้วหรือยัง!!เรามาดูกันก่อนว่า ภาวะเงินเฟ้อและภาวะเงินฝืดคืออะไร

ภาวะเงินเฟ้อ พูดง่ายๆ คือ ภาวะที่ “ราคาสินค้าและบริการ” ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งจาก ฝั่งผู้ซื้อที่มีรายได้ ความต้องการซื้อ และมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น หรือมาจากฝั่งผู้ขาย ผู้ผลิตที่ขึ้นราคาสินค้าจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จำนวนสินค้าที่ผลิตได้มีน้อยลง หรือจากความต้องการทำกำไรเพิ่มขึ้น

ดังนั้น หากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงมาก จะไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากนัก เพราะหมายความว่า เงินจำนวนเท่าเดิม แต่เราจะซื้อสินค้าได้น้อยลงหรือซื้อไม่ได้ และหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากๆ อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจากฝั่งผู้ขาย อาจจะส่งผลให้ประเทศเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง จากราคาสินค้าจำเป็นเพิ่มขึ้นมาก จนคนไม่สามารถเอื้อมถึงได้

ในขณะที่ “ภาวะเงินฝืด” คือ ภาวะที่ “จำนวนสินค้าขายได้ลดลงมาก และ/หรือ สินค้ามีราคาลดลง” ซึ่งส่วนใหญ่ภาวะที่เกิดจากฝั่งผู้ซื้อ มากกว่าผู้ขาย โดยมีแรงกระตุ้นเป็นสภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็น “ช็อก”ค่อนข้างแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ หรือเศรษฐกิจทั่วโลก เช่น ในช่วงของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหลายๆครั้งที่ผ่านมา รวมถึงวิกฤตโควิด-19  ซึ่งจะมีผลให้ คนจำนวนหนึ่งมีรายได้ลดลง และกำลังซื้อลดลงทันที ไม่สามารถจับจ่ายซื้อสินค้าได้อย่างที่เคย ในขณะที่คนอีกส่วนที่แม้ว่า ยังมีรายได้อยู่ แต่เริ่มมีความไม่มั่นใจในการงาน หรืออนาคต  ทำให้ซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น และเลือกที่จะเก็บออมมากขึ้นสำหรับกรณีฉุกเฉินในอนาคต

ทั้งนี้ หากเทียบความเสียหายระหว่างภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืด “เงินฝืดน่าจะกระทบกับเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของคนมากว่า” เพราะเมื่อคนส่วนหนึ่งขาดรายได้ หรือรายได้ลดลงไม่มีเงินซื้อสินค้า คนขายของก็ถูกกระทบเต็มๆ และทางเลือกที่เห็นบ่อยคือ ลดเงินเดือน ลดสวัสดิการลูกจ้างที่ยังทำงานอยู่ หรืออีกทางเลือกคือ การเลิกจ้าง มีคนตกงานเพิ่มขึ้น และอาจจะเห็นบริษัทปิดกิจการ วนเวียนเป็นกับดักของความฝืดเคือง

ดังนั้น ภาวะที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่พึงประสงค์ คือ ภาวะที่เศรษฐกิจมี “อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นน้อยๆ ไม่เกิน 2%”หรือที่เรียกว่า “เงินเฟ้ออ่อนๆ”  ซึ่งเป็นช่วงที่ทำให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตไปด้วยกัน ทั้งฝั่งผู้ผลิต และผู้ขายที่สามารถทยอยขึ้นราคาสินค้าและทำกำไรได้ ในขณะที่ฝั่งผู้ซื้อมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะซื้อสินค้าที่มีราคาแพงขึ้นได้

ส่วนกรณีข้างต้นที่ถกเถียงกัน ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และแบงก์ชาติ ว่า เงินฝืดหรือไม่ฝืดนั้น 

หากเป็นคนเดินถนนอย่างพวกเรา คงไม่ต้องพึ่งพานิยามอะไรมากมายมาตัดสิน ลองคิดง่ายๆ ว่า ในขณะที่เงินในกระเป๋าที่เรามีน้อยลงหรือไม่ ภาวะการทำงานมีความมั่นคงน้อยลงไหม แม้ว่าสินค้าในช่วงนี้จะกระหน่ำโปรโมชั่นลดราคา ซื้อหนึ่งแถมสอง ใจเราอยากซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือต้องลด ละเลิก การช้อปกระหน่ำไว้ก่อนเพื่อเก็บเงินเพื่อสถานการณ์ฉุกเฉินข้างหน้าที่ไม่แน่นอน

ถ้าทั้งหมดนี้ ถูกทุกข้อ พวกเราคงเข้าสู่ “ภาวะเงินฝืด” แบบส่วนตัวมาสักพักแล้ว อย่างไรก็ขอให้ประคองตัวต่อไป รอให้วิกฤตผ่านไป ภาวะนี้อาจจะดีขึ้น 

ส่วนคนที่มีเงินเหลือๆ  แต่ไม่อยากใช้นั้น โอกาสช้อปของถูก พร้อมช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของคุณมาแล้ว แต่ขอให้ซื้ออย่างมีสติ อย่าถึงขนาดซื้อทั้งที่ไม่ได้อยากใช้ แล้วเอามาตั้งให้ขี้ฝุ่นจับ และสุดท้ายกลายเป็นภาระที่ไม่จำเป็น