เกษตรลุ้นเปิดตลาดมังคุดไทยสู่ตลาดญี่ปุ่นแบบใหม่โดยไม่ต้องอบไอน้ำ

  • ช่วยลดต้นทุน ยืดอายุผลมังคุดสดให้ขนส่งทางเรือได้
  • หนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออกมังคุดเพิ่มภายในส.ค.นี้

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การส่งออกมังคุดไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นนั้น ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นอนุญาตให้นำเข้ามังคุดผลสดจากประเทศไทยแต่จะต้องผ่านกระบวนการอบไอน้ำ (VHT) เพื่อเป็นการกำจัดแมลงวันผลไม้ก่อนการส่งออก ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้เสนอมาตรการการส่งออกแบบใหม่โดยไม่ต้องอบไอน้ำ ซึ่งล่าสุดฝ่ายไทยได้เห็นชอบต่อร่างเงื่อนไขแล้ว

ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการภายในประเทศของกระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่น (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries: MAFF) เช่น การเปิดรับฟังข้อคิดเห็น (Public Hearing) การแก้ไขกฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้เงื่อนไขใหม่อย่างเป็นทางการ คาดว่าจะสามารถใช้มาตรการใหม่ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งกรมวิชาการเกษตรและสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว ได้เจรจาเร่งรัดขั้นตอนอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ทันกับมังคุดฤดูกาลนี้ ซึ่งเดิมขั้นตอนจะเสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 2566

มาตรการการส่งออกมังคุดผลสดจากประเทศไทยไปญี่ปุ่นแบบใหม่โดยไม่ต้องอบไอน้ำ จะช่วยลดต้นทุนการส่งออก ของผู้ประกอบการ ยืดอายุ (Shelf life) ของผลมังคุดสด สามารถขนส่งทางเรือได้อีกช่องทางหนึ่ง นอกเหนือจากการขนส่ง ทางเครื่องบิน จะสามารถเอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการให้ส่งออกมังคุดได้มากขึ้น ราคาวางจำหน่าย ณ ร้านค้าปลีกถูกลง และอาจได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้นด้วย

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กล่าวเสริมว่า การส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยังคงแข็งแกร่งและเติบโตได้ดี ซึ่งเมื่อดูทิศทางการส่งออกย้อนหลัง 3 ปี เห็นได้ว่า ปี 2563 ไทยส่งออกไปโลกเป็นมูลค่า 1,193,161 ล้านบาท และไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2564 และ 2565 เป็น 1,404,652 ล้านบาท และ 1,679,778 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละ 1,425,864 ล้านบาท ซึ่งถือได้ว่ามีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 18.65 ต่อปี

ทั้งนี้การผลักดันการส่งออก ทุกหน่วยงานได้ร่วมกันขับเคลื่อน ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อเนื่อง คือ 1) ตลาดนำการผลิต 2) เทคโนโลยีเกษตร 4.0 3) “3 S” เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน 4) เกษตรกรรมยั่งยืน และ 5) บูรณาการทำงานเชิงรุกกับทุกภาคส่วน   ส่งผลให้สินค้าเกษตรไทยยังเป็นที่ต้องการของหลาย ๆ ตลาด และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับเกษตรกรไทยมีการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐานตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ เน้นการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดสอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก ให้ความสำคัญกับการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และการขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรมากขึ้น อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการค้าให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป