“อุตตม” มั่นใจรัฐบาลเบิกจ่ายงบฯ ปี 63 ได้ไม่น้อยกว่า 80%

  • เร่งอัดเม็ดเงินลงทุนรัฐ-รัฐวิสาหกิจ 500,000 ล้านบาท 
  • ชี้หากไวรัสโควิด -19 คลี่คลายภายในก.ค.นี้
  • การท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัวกลับมา

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวหลังพบนักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบัน ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ว่า นักลงทุนและผู้จัดการกองทุนรายใหญ่ สนใจถามกระทรวงการคลังอยู่ 2-3 เรื่อง คือ มาตรการที่ภาครัฐใช้ดูแลสถานการณ์ในช่วงนี้ และเมื่อใช้มาตรการแล้วเศรษฐกิจในอนาคตจะเป็นอย่างไร รวมถึงแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณปี 63 ด้วย 

“ผมได้อธิบายให้กับนักลงทุนฟังถึงแผนงานการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีเวลาใช้จ่ายในอีก 6 เดือน ก่อนหมดปีงบประมาณในวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยจะพยายามเบิกจ่ายให้ได้ 80% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด สำหรับในส่วนของงบประจำ คิดว่าไม่น่ามีปัญหาและจะเบิกจ่ายได้ตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากกระทรวงการคลังเร่งรัดให้หน่วยงานต่างๆ ให้เตรียมพร้อมการเบิกจ่ายไว้ตามแผนงาน”

ส่วนงบลงทุนราว 640,000 ล้านบาทนั้น สำนักงบประมาณประเมินไว้ว่า จะมีงบประมาณจำนวน 350,000 ล้านบาท ที่สามารถเบิกจ่ายได้ทันทีเมื่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)งบประมาณมีผลบังคับใช้ ส่วนอีกจำนวน 96,000 ล้านบาท ได้มีการจัดทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง(ทีโออาร์) ไว้แล้ว และพร้อมปล่อยเงินในส่วนนี้ออกมา โดยเมื่อรวมเม็ดงบประมาณของทั้ง 2 ส่วน จะมีเม็ดเงินกว่า 400,000 ล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 2 ส่วนงบลงทุนที่เหลืออีกกว่า 240,000 ล้านบาทนั้น ปัจจุบันอยู่ในระหว่างเตรียมการทำทีโออาร์ คาดว่าใช้เวลา 45-50 วัน น่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ภายในไตรมาส 2 และไตรมาส 3  

นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังตั้งเป้าหมายเบิกจ่ายการลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีก 100,000 ล้านบาทในเดือนมี.ค.63 จากงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งสิ้น 350,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายเบิกจ่ายให้ได้ 80% ของงบลงทุน รวมถึงเร่งรัดให้หน่วยงานภาครัฐจัดสัมมนาในต่างจังหวัดให้เร็วขึ้น จากเดิมต้องรอช่วงปลายปีงบประมาณ และกำชับให้กรมบัญชีกลางเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเกี่ยวกับภัยแล้งทันทีเมื่อกระทรวงมหาดไทยประกาศเขตภัยแล้ง

“รัฐบาลจะเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนจากภาครัฐ 400,000 ล้านบาท และเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจ 100,000 ล้านบาท รวมเม็ดเงินกว่า 500,000 ล้านบาท เพื่อดูแลเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลานี้ที่ทุกคนเป็นห่วง ทั้งเรื่องสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีชุดมาตรการกระตุ้น ทั้งการอุปโภคบริโภค การลงทุน ภาคการเกษตร และภัยแล้ง”

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา รัฐบาลมีมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ไปแล้ว และเตรียมจะออกมาตรการเพิ่มเติมอีกครั้ง ซึ่งเป็นผลจากการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่าต้องดูแลเศรษฐกิจในระยะสั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบและผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ส่วนในระยะยาวต้องมีการลงทุนตามแผนยุทธศาตร์ชาติที่วางไว้ เพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งต้องเดินคู่ขนานกับการดูแลเศรษฐกิจในระยะสั้น

“เศรษฐกิจในระยะต่อไปคงขึ้นอยู่กับปัจจัยเศรษฐกิจโลก แม้จะมีแนวโน้มที่ดีสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีนที่คลีลาย แต่ยังมีการแทรกซ้อนจากไวรัสโควิด-19 ที่สร้างกระทบต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทย และถ้าไวรัสเริ่มคลี่คลาย คาคว่าไว้ในเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจน่าจะรีบาวด์ (ฟื้นตัว)กลับมา”