อินเดียจำกัดปริมาณส่งออกแป้งสาลีมีผล 12 ก.ค.นี้

  • แทนมาตรการห้ามส่งออกที่บังคับใช้ตั้งแต่พ.ค.65
  • ขณะที่ UNDP ชี้คนจนทั่วโลกเพิ่มกว่า 51.6 ล้านคน
  • หลังเกิดวิกฤติภาวะค่าครองชีพ-ราคาสินค้าแพง

รัฐบาลอินเดีย จำกัดส่งออกแป้งสาลี มีผล 12 ก.ค.นี้เป็นต้นไป  ขณะที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เผย ประชาชนหลายสิบล้าน ยากจนจากราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อินเดียสั่งห้ามการส่งออกข้าวสาลีเมื่อช่วงกลางเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา หลังคลื่นความร้อนรุนแรง ทำให้ผลผลิตเสียหาย และลดลง ผลักดันให้ราคาข้าวสาลีในประเทศพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และประเทศเพื่อนบ้าน ไม่สามารถหาข้าวสาลีราคาถูกจากแหล่งอื่นมาทดแทนได้

ดังนั้น จึงได้ยกเลิกการห้ามส่งออก และใช้นโยบายจำกัดการส่งออกแทน และผู้ส่งออกจะต้องขออนุญาตก่อนส่งออก มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.นี้เป็นต้นไป

ด้าน UNDP ออกรายการโดยระบุว่า ปัจจุบัน มีคนยากจนเพิ่มขึ้นอีก 51.6 ล้านคน หรือมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ความยากจนที่ 1.90 เหรียญสหรัฐฯต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 8.3% มาอยู่ที่ 9% ของประชากรโลก เพราะอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3.20 เหรียญฯต่อวัน เพิ่มขึ้นเกือบ 20 ล้านคน มาอยู่ที่ 71.5 ล้านคน

นายอาคิม สไตเนอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ UNDP ระบุว่า “วิกฤติค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ผู้คนหลายล้านคนกลายเป็นคนยากจนและอดอยาก เพราะภัยคุกคามจากความไม่สงบทางสังคมที่เพิ่มขึ้นทุกวัน”

สำหรับรายงานดังกล่าว วิเคราะห์จากรายได้ครัวเรือนโดยประมาณใน 159 ประเทศ รวมถึงราคาสินค้าที่พุ่งขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนต.ค.64 ถึงปลายเดือนเม.ย.65

ทั้งนี้ รัสเซียและยูเครน เป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก มีสัดส่วนการส่งออกรวมกันราว 1 ใน 4 ของโลก นอกจากนี้ รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก