อาเซียน-ญี่ปุ่นรวมพลังต้านวิกฤติโควิด-19

????????????????????????????????????
  • รัฐมนตรีเศรษฐกิจออกถ้อยแถลงร่วมรับมือโรคระบาด
  • หวังบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจในหมู่สมาชิก
  • พร้อมย้ำไม่สร้างอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าจำเป็น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย.63 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและญี่ปุ่นได้ออกถ้อยแถลงร่วม “ข้อริเริ่มด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19” โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ รักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันใกล้ชิดระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น และรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 , ร่วมมือกันบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 และเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ โดยรัฐมนตรีได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อให้ข้อริเริ่มดังกล่าวเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

นอกจากนี้ ถ้อยแถลงดังกล่าว ยังให้ความสำคัญกับการรักษาตลาดที่เปิดกว้าง และส่งเสริมให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยอาเซียนและญี่ปุ่น ในฐานะผู้ผลิตหลักของห่วงโซ่การผลิตโลกจะพยายามอย่างเต็มที่ในการจัดหาวัตถุดิบและสินค้าต่างๆ ส่งออกสู่ตลาดโลก เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด รวมถึงไม่สร้างอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าที่จำเป็น เช่น อาหาร สินค้าโภคภัณฑ์ ยา อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (เอ็มเอสเอ็มอี) และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเอื้อให้ภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของโลก รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

ทั้งนี้ ปัจจุบันอาเซียนและญี่ปุ่นมีกลไกความร่วมมือต่างๆ เช่น คณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอาเซียน-ญี่ปุ่น (AMEICC), สภาธุรกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJBC), สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน, ศูนย์อาเซียน- ญี่ปุ่น, องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวบรรลุผล 

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ในการประชุมรัฐมนตรีเกษตรอาเซียน ได้แสดงความกังวลกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นกัน และได้ออกถ้อยแถลงเช่นกันว่า อาเซียนจะไม่ดำเนินมาตรการใดๆ ที่จะกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอาหาร หรือการส่งออกอาหาร รวมถึงจะสร้างความเชื่อมั่นในความมั่นคงด้านอาหาร และอาหารปลอดภัยในภูมิภาค