“อาคม” เดินหน้าปฎิรูปโครงสร้างรายได้ ดันสัดส่วนรายได้แตะ 16%ของจีดีพีในอีก 5 ปีข้างหน้า

  • เผย 4 ปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจไทย
  • “นโยบายคลังการเงิน-ภูมิอากาศ-ดิจิทัล-การพัฒนาบุคลากร”
  • ยันปีนี้จีดีพีโต3.2 % ปีหน้า 3.8%

นายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ปาฐกถาพิเศษงาน Bangkok Post Year-End Forum 2022 “Thailand Insights 2023: Unlocking the Future” จัดโดย Bangkok Post Group ว่า ขณะนี้ประเทศไทยและโลกกำลังจะเข้าสู่ปีแห่งการท้าทาย ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็วมาก  แต่เศรษฐกิจประเทศไทยกำลังฟื้นตัว นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเที่ยวไทย ซึ่งวันที่ 10 ธ.ค.นี้  จะมีจำนวนครบ 10 ล้านคน หลังจากเกิดวิกฤตโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และขอย้ำว่าปีนี้และปีหน้าเศรษฐกิจไทย ยังคงเติบโตภายใต้กรอบ 3-4%  โดยปีนี้เติบโต 3.2% ปีหน้า 3.8% ตามลำดับ 

สำหรับประเด็นความท้าท้ายในอนาคต 4 หลัก ได้แก่ 1. การบริหารเศรษฐกิจมหภาคโดยในส่วนของนโยบายการเงินการคลัง หลังจากพ้นวิกฤโควิดแล้ว มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาก็ต้องทยอยลดลง รวมถึงมาตรการที่เคยผ่อนปรนไว้ ก็ต้องนำกลับมาดำเนินนโยบายตามปกติ ขณะเดียวกันจะใช้งบประมาณที่มีอยู่มาดำเนินการ ส่วนการลงทุนก็จะให้ความสำคัญกับโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) มากขึ้น เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืน

ทั้งนี้ในส่วนของนโยบายการคลัง ที่ต้องสร้างความมั่งคงเรื่องการจัดเก็บรายได้  ปัจจุบันการจัดเก็บรายได้ต่อผลิตภัณฑ์มวลของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี2556 อยู่ที่ 17% ของจีดีพี ลดลงมาอยู่ที่ 14.9% ในปี2564 เพราะภาวะวิกฤตโควิด ดังนั้นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้  ปฎิรูปโครงสร้างภาษี  ปรับโครงสร้างรายได้ ซึ่งตามแผนการดำเนินงานในปีอีก 5 ปีข้างหน้าสัดส่วนรายได้จะต้องอยู่ที่ 16% ของจีดีพี   

2.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการในหลายเรื่อง อาทิ การสนับสนุนการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า การลงทุนในเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น  ขณะที่สถาบันการเงิน  ได้มีการตั้งพอร์ตสินเชื่อโครงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3.การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะปัจจุบันดิจิทัลมีส่วนสำคัญมากในการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นการเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยลดต้นทุนทั้งของภาคธุรกิจ ประชาชน และรัฐบาล ขณะเดียวกันต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้วย และ4.การพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ทันรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับจะมีการใช้หุ่นยนต์แทนมนุษย์มากขึ้น ดังนั้นจะต้องเร่งเสริมทักษะให้แรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ซึ่งที่ผ่านมาได้เตรียมการยกระดับฝีมือแรงงาน หลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาคุณภาพแรงงาน ซึ่งต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง

ส่วนประเด็นการส่งออกที่ลดลงต่อเนื่องนั้น นายอาคม กล่าวว่า ต้องพิจารณายอดส่งออกและคำสั่งซื้อในเดือนพ.ย.-ธ.ค.อีกครั้ง เพื่อประเมินสถานการณ์ส่งออกอีกครั้ง อย่างไรก็ตามยอดส่งออกที่ถดถอย รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่เชื่อว่าการส่งออกสินค้าในหมวดอาหารของประเทศไทย น่าจะมีทิศทางการดีขึ้น ดังนั้นต้องเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับตัวสำหรับการส่งออก