อัญมณี-เครื่องประดับไทย เจอพิษสงครามการค้าเล่นงาน

  • สงครามการค้าฉุดส่งออกอัญมณี-เครื่องประดับไทย
  • 4 เดือนแรกยอดติดลบไปและ 8.30%
  • เจ็บซ้ำพิษบาทแข็ง-เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
นางดวงกมล เจียมบุตร
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยถึงการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยว่า ในช่วง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปี 62  มีมูลค่า 3,792.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 8.30% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 119,586.73 ล้านบาท ลดลง 8.35% หากหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 2,376.45 ล้านเหรียญฯ ลดลง 6.21% คิดเป็นเงินบาท 74,947.88 ล้านบาท ลดลง 6.22% โดยปัจจัยที่ทำให้การส่งออกลดลง มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้บรรยากาศการค้าอัญมณีและเครื่องประดับซบเซา จากการที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดลง และยังได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้สินค้าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงปัญหาที่สหราชอาณาจักรถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรและอียู ทำให้มีผลกระทบต่อตลาดเงินโลกในระยะต่อไปได้

“มองว่าปัจจัยลบจากสงครามการค้า จะยังคงมีผลต่อการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่จะยังทรงตัวในระดับนี้ต่อเนื่องจนถึงไตรมาสหน้า เพราะหากยังไม่คลี่คลาย ก็จะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ ทำให้ความเชื่อมั่นในการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับลดลง แต่ถ้าคลี่คลาย คาดว่าการส่งออกจะกลับมาดีขึ้นได้”นางดวงกมลกล่าว

อย่างไรก็ตาม สถาบันฯ มีข้อแนะนำให้ผู้ส่งออกใช้โอกาสในขณะนี้ พัฒนาการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เพิ่มช่องทางการค้าขายออนไลน์ เพราะเป็นช่องทางที่มีโอกาสและขยายตัวสูงในปัจจุบัน และควรทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพื่อป้องกันความผันผวนจากค่าเงินบาท

สำหรับภาพรวมการส่งออกเป็นรายสินค้า พบว่า เครื่องประดับแท้ เช่น เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง และเครื่องประดับแพลทินัม ลดลง 15.76% , 6.63% และ 9.05% ตามลำดับ เพชร ลดลง 14.44% เพชรเจียระไน ลดลง 15.25% พลอยก้อน เพิ่ม 151.41% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 3.42% แต่พลอยเนื้อแข็งเจียระไน ลด 0.48%เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 5.56%และโลหะเงิน เพิ่ม 227.76%ขณะที่ทองคำ ลดลง 11.62%

ส่วนตลาดส่งออก ฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ยังคงติดลบ 10.49% มาจากการส่งออกเพชรลดลง, สหภาพยุโรป ลด 1.71% จากการส่งออกไปเยอรมนี ซึ่งเป็นตลาดสำคัญลดลง, สหรัฐฯ ลด 6.22% จากการส่งออกเครื่องประดับแท้ เงิน และทอง ลดลง, กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ลด 4.98% เพราะกำลังซื้อลดจากเศรษฐกิจชะลอตัว, ญี่ปุ่น ลด 13.30% จากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว, ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ลด 27.97% จากการส่งออกไปยังออสเตรเลียได้ลดลง

ทั้งในส่วนของลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ลด 78.70% จากการส่งออกไปรัสเซียที่กำลังมีความขัดแย้งกับหลายประเทศลดลง แต่อินเดีย เพิ่ม 21.81% จากการส่งออกพลอยก้อนและเงินได้เพิ่มขึ้น, จีน เพิ่ม 2.14% จากการส่งออกเครื่องประดับเงินได้เพิ่ม และอาเซียน เพิ่ม 15.50% จากการที่สิงคโปร์นำเข้าเครื่องประดับเทียมเพิ่มขึ้น