“อนุทิน” พอใจ ไทยฉีดวัคซีนแตะ 98 ล้านโดส หวังปี 65 ได้ฉีดเด็กต่ำกว่า 12 ปี

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงทิศทางการให้บริการวัคซีนโควิด 19 และความน่ากังวลของเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ว่า ประเทศไทย มีวัคซีนหลากหลายชนิด และเพียงพอต่อการให้บริการ สำหรับยอดการฉีดวัคซีน ที่ช่วงนี้ชะลอตัวลงไป เพราะที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมาก ได้รับวัคซีนไปแล้ว จำนวนการฉีดจึงน้อยลงตามลำดับ นอกจากนั้น ยังมีประชาชน กลุ่มที่ลังเล ในการมารับบริการ จึง ได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำความเข้าใจ ถึงประโยชน์ของการรับวัคซีน ซึ่ง ประเทศไทย ต้องการให้บริการวัคซีนอย่างครอบคลุมมากที่สุด

อย่างไรก็ตามต้องทำความเข้าใจตรงกันว่า ตอนนี้ เด็กอายุ 12 ขึ้นไป ได้รับวัคซีนแล้ว ส่วนเด็กที่อายุต่ำลงมาต้องขอดูผลการศึกษาระดับนานาชาติก่อน หากมีวัคซีนสำหรับเด็กอายุน้อย 12 ปี ที่มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ เราพร้อมจัดหามาให้บริการ จากข้อมูล น่าจะได้วัคซีนตัวดังกล่าวในปี 2565 สำหรับปัจจุบัน การที่ฉีดได้ถึงตัวเลข 98 ล้านโดส ก็น่าพอใจ อย่างไรเสีย เราบรรุลเป้าหมาย 100 ล้านโดสในปีนี้แน่นอน

ดังนั้น ในปี 65 จะเป็นปีของการฉีดเข็มกระตุ้น ปัจจุบัน เดินหน้าไปแล้ว แต่ในปีหน้า จะฉีดกันอย่างกว้างขวาง คำว่าเข็มกระตุ้น เราไม่ได้จำกัดแค่เข็ม 3 แต่เราหมายถึงเข็ม 4 – 5 ด้วย หาก พบว่าประชาชนภูมิคุ้มกันลดลง ก็ต้องหาทางบูสต์ให้สูงขึ้น ประเทศไทย ได้สำรอง และจองวัคซีน พร้อมกับคาดการณ์ล่วงหน้าไว้ ทั้งนี้ ในการทำสัญญากับทางผู้ผลิตวัคซีน เราได้ให้เงื่อนไขเรื่องเปลี่ยนตัววัคซีนกับทางผู้ผลิตไปด้วย เมื่อ ทางผู้ผลิต คิดค้น วัคซีนตัวใหม่ได้สำเร็จ เราสามารถ เลือกนำเข้าวัคซีนตัวดังกล่าวได้เลย

สำหรับเรื่องการพบโอมิครอนในไทย ขอย้ำว่า เป็นการพบในระบบการคัดกรอง และได้จัดการตามกระบวนการแล้ว สำหรับวัคซีนที่ไทย นำมาฉีดให้ประชาชน มีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิตได้ เกือบ 100% กระนั้น ต้องขอวิงวอนให้ประชาชน รักษามาตรการเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากาก หมั่นล้างมือ ขอให้ตั้งการ์ดกันพอสมควร หากมีการรวมกลุ่ม ก็ขอให้ช่วยกันคัดกรองด้วย

“ตอนนี้ เราไม่มีเคอร์ฟิวแล้ว หลายกิจกรรมกำหนดให้เฉพาะผู้ที่ตรวจ ATK เท่านั้น ถึงจะเข้าร่วมได้ ร้านอาหาร ขอดูเอกสารการรับวัคซีน มาตรการเหล่านี้ ช่วยลดการระบาดได้มาก สำหรับ เทศกาลปีใหม่ เป็นเทศกาลแห่งความสุข แต่ละจังหวัด จะมีมาตรการเป็นของตัวเอง ขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา เพื่อให้การวางกรอบสอดคล้องกับสถานการณ์ของพื้นที่”