“อนุทิน”แจงเตรียมร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ คุ้มครองคนทำงาน รองรับสถานการณ์โควิด”แพทยสภา-ภาคเอกชน”เข้าร่วมยกร่าง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์การเตรียมออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งให้คณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาและบริหารวัคซีนโควิด-19 ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโควิด-19  มีความรุนแรงทั่วโลก ส่งผลต่อการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ในการดูแลผู้ป่วยภายใต้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ทั้งคน งบประมาณ ยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงการบริหารจัดการ การจัดซื้อจัดหายา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ และวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งสภาพความเป็นจริงมีข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆ ส่งผลให้ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ เนื่องจากปัจจัยในการผลิตวัคซีนและเงื่อนไขในขณะการเจรจาในขณะนั้น

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า กฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการ การจัดบริการทางแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานโควิด-19 ทั้งหมด ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ในภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยไม่ต้องกังวลกับความรับผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยเจตนาดีของผู้ปฏิบัติงาน หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม บุคลากรดังกล่าวก็ไม่ต้องรับผิด 

รวมถึงหากผู้ที่ได้รับมอบหมายในการเจรจาหรือจัดหาวัคซีน มีเจตนาสุจริต การตัดสินใจดำเนินการเป็นไปตามหลักวิชาการที่สนับสนุนในขณะนั้น กฎหมายนี้จึงเห็นควรให้ความคุ้มครองบุคคลหรือคณะบุคคลเหล่านั้นด้วย   ซึ่งเป็นขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนที่เตรียมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ยังไม่ได้มีการเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด 

 “ร่างกฎหมายนี้เป็นการให้ความมั่นใจกับผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด 19 ให้คลายความกังวล เช่นการวินิจฉัยโรคและรักษาพยาบาล ก็ต้องทำความมั่นใจว่าเขาจะได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องของการฟ้องร้อง หากทำโดยเจตนาสุจริต ศาลก็ไม่เคยลงโทษ เราไม่ต้องการให้บรรดาแพทย์ พยาบาล มีความวิตกกังวลหากถูกฟ้องร้อง แม้จะมั่นใจว่าชนะก็ยังมีความวิตกกังวลระดับหนึ่ง เราต้องการให้แพทย์ พยาบาล มีขวัญกำลังใจเต็มที่ จะได้ทุ่มเทในการรักษาพยาบาล วัคซีนก็ต้องจัดหาเข็มสาม เพื่อความปลอดภัยในการไปรักษาคนไข้ มีความกังวลให้น้อยที่สุด สุดท้ายประชาชน คนไข้ก็ได้ประโยชน์” นายอนุทินกล่าว

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า (ร่าง)พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความเป็นมาจากโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน ถือเป็นภัยพิบัติต่อสาธารณะที่เกิดความเสียหาย ประชาชนเจ็บป่วยจำนวนมาก การระดมกำลังภาครัฐ เอกชน องค์กร อาสาสมัครเข้ามาดูแลเป็นเรื่องที่สำคัญ  โควิด-19 เป็นโรคใหม่ แนวทางการรักษา หรือยาที่ใช้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ทำให้เกิดการระบาดจำนวนมากขึ้น อุปกรณ์ เตียงไม่พอ ทำให้มีการเปิด รพ.สนาม ฮอสพิเทลต่างๆ 

ดังนั้น ข้อจำกัดเป็นปัจจัยสำคัญเพราะในภาวะฉุกเฉินอาจมีเรื่องที่ดูแลได้ไม่ทั่วถึง จึงจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันให้บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขที่ดูแลประชาชนให้ได้รับความปลอดภัย จึงเป็นเรื่องสำคัญ เบื้องต้น สธ.ตั้งคณะทำงานยก (ร่าง) พ.ร.ก.ดังกล่าว มอบหมายให้ สบส. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ภาควิชาชีพ ภาคกฎหมายมาช่วยกันดูกลไกลคุ้มครองผู้ทำงานในช่วงระบาดที่เป็นภัยพิบัตินี้ ให้ทำงานอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถไม่ต้องกังวล จึงเกิดเป็นตัวกฎหมายขึ้น

“ดังนั้น ภูมิต้านทานที่ป้องกันการถูกฟ้องร้องทำให้บุคลากรมีขวัญกำลังใจทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในภาวะเช่นนี้ รวมถึงมีข้อเสนอจากองค์กรวิชาชีพ สภาวิชาชีพต่างๆ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เสนอให้มีกฎหมายลักษณะนี้” นพ.ธเรศ กล่าว 

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า กฎหมายคุ้มครองตามหลักสำคัญคือ จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น บุคลากรที่ได้รับคุ้มครองได้แก่ 1. บุคลากรสาธารณสุข ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบโรคศิลปะแขนงต่างๆ อาสาสมัครสาธารณสุขและอื่นๆ ที่มาช่วยงาน บุคคลที่มีส่วนในการจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงยา วัคซีน เพราะเรามองถึงกระบวนตั้งแต่จัดหาเครื่องมือ เตรียมสถานที่ เตรียมบุคลากร ไปจนถึงการรักษาด้วยยาและการบำบัด 2.สถานที่คุ้มครอง คือสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน การปฎิบัติงานนอกสถานที่ อาทิ รถฉุกเฉิน รพ.สนาม การดูแลผู้ป่วยในพื้นที่เฉพาะ 3.การดูแลการคุ้มครอง โดยบุคลากรสาธารณสุขและสถานที่กล่าวอ้าวถึง ต้องทำในสถานพยาบาลหรือนอกสถานพยาบาลตามกำหนด ต้องดูแลเพื่อประโยชน์สาธารณะภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

“การดูแลการคุ้มครอง ไม่ใช่ทุกกรณี ทั้งหมดนี้จะอยู่ภายใต้กรอบใหญ่ คือการกระทำนั้นต้องกระทำโดยสุจริต ข้อยกเว้นคือ หากการกระทำนั้น เป็นไปอย่างประมาทเลิ่นเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้เกิดความเสียหาย จะเห็นว่าการคุ้มครองมีกรอบจำกัดแต่ขณะเดียวกัน สมมติมีประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย ก็เขียนไว้ว่า ไม่เป็นการตัดสิทธิที่ได้รับการเยียวยาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ในสถานการณ์ปัจจุบัน” นพ.ธเรศ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีบุคลากรที่ไม่ต้องรับผิดตามร่างกฎหมายนี้ มีตัวอย่างบุคลากรกลุ่มใด หรือทำงานแบบใด นพ.ธเรศ กล่าวว่า อย่างการปฏิบัติงานใน รพ.สนาม เป็นสิ่งแวดล้อมที่เราจัดขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก บางครั้งเครื่องมืออาจมีข้อจำกัด เรื่องสถานที่ ที่ไม่เหมือน รพ. 100% เรื่องทิศทางต่างๆ ทั้งแนวทางการรักษาที่เป็นเรื่องใหม่ เช่น ช่วงแรกเราพูดถึงยาชนิดหนึ่งไม่มีผล แต่ระยะหลังกลับมีผล โรคใหม่มีการเปลี่ยนไปตลอด บางช่วงการรักษาก็ต่างไปตามพิสัย 

“เรื่ององค์ความรู้ เช่นวัคซีน ที่เรารู้ว่าต้องฉีด 2 เข็มต่อมาพบว่าเราสามารถไขว้ชนิดได้ ดังนั้น ความรู้ก็ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา จึงมีความจำเป็นมาก ในการมีกฎหมายนี้มาเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากร ร่าง จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นเจตนารมณ์ที่มุ่งให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ แต่เราก็ยินดีรับฟังความคิดเห็นต่างๆ เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมที่สุด ซึ่งยืนยันว่า บุคลากรทั้งรัฐ เอกชน และที่มาเป็นอาสาสมัครต่างยึดมั่นดูแลประชาชนอย่างเต็มที่” นพ.ธเรศ กล่าว

ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธิพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า การมีกฎหมายมาคุ้มครองให้ผู้ปฏิบัติงานปลอดภัย และทำงานได้เต็มที่ เพื่อดูแลประชาชนได้มากที่สุด ก็จะทำให้การทำงานสะดวกขึ้น ไม่ติดขัด และยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งทุกวิชาชีพเห็นด้วยกับเรื่องนี้ ในเรื่องการรักษาพยาบาล ซึ่งทุกอย่างเป็นความรู้ใหม่ ก็เรียนรู้ไปด้วยกัน หลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันข้อจำกัดของบุคคล ของสถานที่ รวมทั้งบุคลากรก็มี และแตกต่างกัน แต่แม้ร่างกฎหมายจะบอกว่า ไม่ต้องรับผิด แต่ความเป็นจริงบุคลากรทุกคนรับผิดชอบทุกคน