หอการค้าไทยยื่น “สมุดปกขาว” ฟื้นเศรษฐกิจ

  • เดินหน้ายกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขัน
  • “สุพัฒนพงษ์” ปลุกเอกชนใช้ “บีซีจี โมเดล” ทำธุรกิจ
  • พร้อมสร้างเสน่ห์ระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาคดึงดูดลงทุน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยในการปิดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 40 ที่จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 27 พ.ย.65 หอการค้าไทยได้เสนอสมุดปกขาวการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ครอบคลุมแนวทางการพัฒนาประเทศ ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านรองนายกฯสุพัฒนพงษ์ ประกอบด้วย 1.Connect เชื่อมโยงความร่วมมือเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของ SME ขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค 5 ภาค 2.Competitive ยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ โดยสนับสนุนภาครัฐขับเคลื่อนความตกลงการค้าเสรีเอเปก และเร่งเจรจาเอฟทีเอกับนานาชาติ ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หอการค้าไทย มีแผนดึงดูดนักลงทุนจากจีน ซาอุดีอาระเบีย เวียดนาม และอินเดีย รวมถึงรักษากลุ่มนักลงทุนเดิม เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ฯลฯ 3.Sustainable สร้างอนาคตที่ยั่งยืน โดยผลักดันเป้าหมายกรุงเทพฯว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี เป็นต้น

“แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะเปราะบาง แต่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสเติบโตได้ โดยคาดว่า จะเติบโตได้ 3.5-4 % และส่งออกจะเติบโตได้ 3-5 % และนำข้อเสนอแนะทั้งหมดที่ได้จากการจัดสัมมนาครั้งนี้ จัดทำเป็นสมุดปกขาวเสนอรัฐบาลแล้ว”

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ร่วมแรง ร่วมใจ ยกระดับไทย สู่ความยั่งยืน” ในงานสัมมนา ว่า สมุดปกขาว ที่หอการค้าไทยได้ระดมสมองสมาชิกจัดทำขึ้นนั้น น่าจะเป็นความหวัง เป็นทางออกของประเทศ แต่ต้องการให้เอกชนเดินหน้าใช้บีซีจี โมเดล (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) เป็นแนวทางดำเนินธุรกิจให้มากขึ้น เพราะเป็นการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เพิ่มมูลค่าสินค้า ป้องกันตัวเองจากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ที่ทำให้การค้ามีต้นทุนแฝงมากขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยเริ่มทำกันบ้างแล้ว เช่น ผลิตโปรตีนจากแมลง หรือจากพืช (แพลนต์เบส) ไบโอพลาสติกจากพืช หรือทำพลาสติกชีวภาพ ที่นำพืชมาใช้ และช่วยลดโลกร้อนจากปศุสัตว์ ลดการปล่อยก๊าซ หรือการแยกขยะ สร้างรายได้ให้ชุมชนปี โดยเอาเศษผัก ไปหมุนเป็นวัตถุดิบไปเลี้ยงแมลง แล้วเอามาทำเป็นโปรตีนจากแมลง

“และอยากให้ช่วยกันผลักดันอีกแรง คือ การยกระดับสินค้าเหล่านี้ โดยให้มีมาตรฐานชัดเจน ให้เป็นสินค้าไม่มีพรมแดน ไม่ถูกกีดกัน หรืออยู่ในขอบข่ายความตกลงการค้า ตอนนี้ เรายังเจรจาได้ไม่มาก ถ้าคุยกันเป็นกรอบเล็กๆ เป็นช่องทางพิเศษ ไม่เสียภาษี เราไม่เป็นลองใครแน่นอน ถ้าเราทำเรื่องนี้มากๆ จะรักษาความมั่นคงด้านอาหาร แก้ปัญหาโลกร้อนได้เร็วขึ้น ส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศ รัฐ เอกชนต้องร่วมกัน เราจะฟื้นจากวิกฤติไม่ใช่เพื่อดีเท่าเดิม แต่เพื่อดีกว่าเดิม”

นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังเดินหน้าสร้างระบบนิเวศ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่ ขณะเดียวกัน กำลังศึกษาการสร้างระเบียงเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจากภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะมองว่า ถ้ามีกรุงเทพฯขนาดเล็ก 5-6 เมืองกระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ จะทำให้แข็งแรงพอที่จะดูแลทั้งประเทศ ไม่ต้องผูกติดกับกรุงเทพฯอย่างเดียว

“จากอีอีซีแล้วจะไปไหนต่อ รัฐบาลวางไว้แล้วว่าจะมีระเบียงเศรษฐกิจเหนือ อีสาน ใต้ กลาง แต่ละระเบียงต้องมีจุดแข็ง และมีเสน่ห์กว่าเดิม ที่วางไว้ คือ พลังงานสะอาด อย่างภาคเหนือ กำลังร่วมกับพันธมิตรศึกษาว่าถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ที่เป็นภาระ เปลี่ยนมาเป็นพลังงานสะอาดจะได้หรือไม่ โดยการทำถ่านหินสะอาด ถ่านหิน คือ สารทำให้โลกร้อน แต่ถ้ากักเก็บและยัดลงไปใต้พื้นดิน ก็จะได้ไฟฟ้าสะอาด ไม่ใช่พลังงานจากคาร์บอน จะเปลี่ยนจากภาระเป็นทรัพย์สินทันที หรืออย่างที่อุบลราชธานี ขอนแก่น ก็มีศักยภาพทำได้เหมือนกัน ภาคตะวันออกมีบางจังหวัดทำได้ ตอนนี้ อยู่ระหว่างศึกษา ภายใน 90 วันน่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น”