“หมอยง” ไขข้อข้องใจ “ภูมิต้านทาน” ที่เกิดขึ้นจากวัคซีนโควิด ป้องกันโรคได้หรือไม่



วันที่ 7 มีนาคม 2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์ “วัคซีนโควิด-19” มีเนื้อหาระบุว่า

วัคซีนโควิด ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากวัคซีน

ประเทศไทย ไม่สามารถที่จะศึกษาภาพของการป้องกันโรคได้ เพราะมีการระบาดของโรคน้อยมาก เราทำได้เพียงการศึกษา ระดับภูมิต้านทาน ที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน

ขณะนี้มีผู้กลับจากต่างประเทศที่ได้รับวัคซีนมาแล้วมาที่ศูนย์ ผมได้ตรวจวัดระดับภูมิต้านทานของวัคซีน Pfizer Sinopharm AstraZeneca บ้างแล้ว แต่จำนวนน้อย

การศึกษาภูมิต้านทานของวัคซีน Sinovac หรือ Coronavac ที่ฉีดในประเทศไทย ได้เริ่มขึ้นแล้ว

มีการตรวจเลือดก่อนการให้วัคซีน และจะตรวจเลือดก่อนการให้วัคซีนเข็มที่ 2 ในวันที่ 20 ต้นๆ ก็คงจะรู้ระดับภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น ในคนไทยที่ฉีดวัคซีน Sinovac ของจีน และต่อไปถ้ามีการใช้ AstraZeneca เราก็จะทำการศึกษาควบคู่กันไป

การตรวจวัดภูมิต้านทาน สามารถวัดเชิงปริมาณได้ ขณะนี้ที่สนใจว่า วัคซีนเชื้อตาย จะมีภูมิต้านทานต่อ nucleocapsid หรือไม่ เพราะแน่นอนวัคซีนชนิดอื่นเช่น mRNA และ Virus vector จะตรวจพบเฉพาะภูมิต้านทานต่อ spike protein ที่เป็นหนามแหลมยื่นออกไปเท่านั้น

สิ่งที่น่าสนใจต่อไปก็คือว่า ภูมิต้านทานต่อ nucleocapsid สามารถป้องกันโรคได้หรือไม่

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อและหายแล้ว จะตรวจพบภูมิต้านทานทั้ง 2 ชนิด และพบว่าภูมิต้านทานต่อ nucleocapsid จะขึ้นเร็ว และเมื่อติดตามต่อไประยะยาว จะพบว่าภูมิต้านทานต่อ nucleocapsid ลดลงเร็วกว่าภูมิต้านทานต่อ spike protein

งานศึกษาวิจัยที่กำลังทำอยู่ ได้รับความร่วมมืออย่างดีมาก จากอาสาสมัครที่ป่วยและมาติดตามการตรวจมากกว่า 200 คน ขณะนี้กำลังจะครบ 1 ปี ในเดือนหน้า จะทำให้เราทราบผลระยะยาว 1 ปี ของภูมิต้านทานที่เกิดจากการติดเชื้อในธรรมชาติ  และเราสามารถนำมาเปรียบเทียบกับภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากวัคซีน

ต้องขอขอบคุณอาสาสมัครทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง ในความเสียสละเพื่อส่วนรวม และการสร้างองค์ความรู้ใหม่