“หมอธีระ” เผยภาพชัดสรรพคุณวัคซีนโควิดแต่ละตัว แนะควรหาชนิดที่ฉีดเข็มเดียวจบจะดีมาก



วันนี้ (2 มี.ค.64) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ผ่านทางเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” โดยมีเนื้อหารายงานถึงยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ดังนี้….

สถานการณ์ทั่วโลก 2 มีนาคม 2564 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 286,922 คน รวมแล้วตอนนี้ 114,936,822 คน ตายเพิ่มอีก6,140 คน ยอดตายรวม 2,548,336 คน

อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 53,346 คน รวม 29,297,183 คน ตายเพิ่มอีก 1,159 คน ยอดตายรวม 526,914 คน

อินเดีย ติดเพิ่ม 10,974 คน รวม 11,122,986 คน

บราซิล ติดเพิ่ม 35,742 คน รวม 10,587,001 คน

รัสเซีย ติดเพิ่ม 11,571 คน รวม 4,257,650 คน

ราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 5,455 คน รวม 4,182,009 คน

อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลักหมื่นต่อวัน

แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า แนวโน้มดูลดลง

ในขณะที่แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพัน

เกาหลีใต้ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนสิงคโปร์ เมียนมาร์ จีน ไทย ฮ่องกง และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

หากดูตามข้อมูลวิชาการที่มีขณะนี้ ทั้งในเรื่องสรรพคุณด้านการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ และแบบไม่มีอาการการลดความรุนแรงของโรค หรือการเสียชีวิต และผลต่อสายพันธุ์ไวรัสที่กลายพันธุ์ ดูแล้ววัคซีนของ Pfizer/Biontech, Moderna, และ Johnson&Johnson น่าจะมีข้อได้เปรียบ ตัวเลือกถัดๆ มาคือ Novavax และ Astrazeneca

แต่หากดูเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บรักษาและความสะดวกในการฉีด ที่ดูจะมีภาษีดีสุดคือ Johnson&Johnson เพราะฉีดเพียงครั้งเดียว และเก็บในตู้เย็นได้ ส่วนวัคซีนตัวอื่น ก็มีข้อจำกัดแตกต่างกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีการฉีดสองครั้ง

ในขณะที่หากดูข้อมูลเรื่องความปลอดภัย จากการฉีดในสถานการณ์จริง ไม่ใช่ในงานวิจัย ขณะนี้ที่ดูมีข้อมูลเรื่องนี้และน่าจะมั่นใจได้มากคือ Pfizer/Biontech, Moderna, และ Astrazeneca

ส่วนวัคซีนอื่นๆ นั้น หน่วยงานของแต่ละประเทศที่นำมาใช้ก็คงต้องขอรายละเอียดเชิงลึก เช่น ผลการศึกษาระยะที่ 3 อย่างละเอียด (ฉบับเต็ม) ซึ่งจะทำให้เข้าใจโครงสร้างประชากรที่ศึกษา สถานที่และวิธีการทำการวิจัยในแต่ละประเทศผลที่เกิดขึ้นในการวิจัยทั้งในแง่สรรพคุณและความปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังควรขอข้อมูลผลที่เกิดจากการนำไปฉีดในสถานการณ์จริงทั้งเรื่องจำนวนคนที่ได้รับ ข้อมูลประชากรสรรพคุณและความปลอดภัยในแต่ละช่วงเวลาจากระบบติดตามผลการฉีดของแต่ละประเทศด้วย

ทั้งนี้ หากได้ข้อมูลดังกล่าวมา ควรนำเสนอให้ประชาชนในประเทศได้รับทราบ หรือหากมีข้อสงสัยจะได้ซักถามจนกระจ่างก่อนตัดสินใจ

หากวิเคราะห์สถานการณ์ของเรา… ส่วนตัวแล้วประเมินว่า ถ้ามีวัคซีนที่ฉีดครั้งเดียวก็น่าจะมีประโยชน์ไม่น้อย เพราะจะลดปัญหาด้านภาระการติดตามคนมาฉีดเข็มสองได้อย่างมาก

ในขณะเดียวกัน การมีวัคซีนที่มีสรรพคุณสูง ทั้งในแง่การป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ และแบบไม่มีอาการ (ซึ่งช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อได้) ก็จะช่วยให้ประเทศมีต้นทุนความเข้มแข็งด้านการป้องกันการระบาดของโรคมากขึ้นโอกาสฟื้นตัวก็จะเร็วขึ้นหรือมากขึ้น

แต่หากต้นทุนความเข้มแข็งด้านการป้องกันมีจำกัด… การระบาดซ้ำก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มาก ฟื้นตัวได้ยากกว่า

ทั้งนี้ต้นทุนความเข้มแข็งด้านการป้องกันการระบาดนั้น มี 4 เรื่อง ได้แก่

หนึ่ง ศักยภาพของระบบการตรวจคัดกรองโรค ที่ควรทำได้มากและครอบคลุมทุกพื้นที่

สอง พฤติกรรมการป้องกันตัวของประชาชน (ใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างๆ ลดพฤติกรรมเสี่ยง และการสังเกตอาการตนเองเพื่อไปตรวจได้เร็ว)

สาม นโยบายประเทศที่ไม่นำความเสี่ยงเข้าสู่ประเทศ

และสี่ ชนิดวัคซีนที่มีใช้ในประเทศ ทั้งในเรื่องสรรพคุณ ความปลอดภัย การเข้าถึงและความครอบคลุม

ณ ปัจจุบัน ย้ำอีกครั้งว่า สถานการณ์ระบาดยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ขอให้รักตัวเอง รักครอบครัว ป้องกันตัวเสมอ

ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเป็นแสงส่องทาง ตัดสินใจประพฤติปฏิบัติด้วยสติ และหลักความเป็นเหตุเป็นผล

ด้วยรักและปรารถนาดี