หนุนจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์” สร้างอาชีพผู้ต้องขัง

  • สำนักงานกิจการยุติธรรม  จับมือ “นิด้าโพล”
  • สำรวจความคิดเห็นประชาชนตั้งนิคมฯราชทัณฑ์ 
  • เสียงส่วนใหญ่ 59.89% เห็นด้วยให้จัดตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานกิจการยุติธรรม ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์” โดยเริ่มทำการสำรวจในเดือนกันยายน 2563 จากประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,269  หน่วยตัวอย่าง สอบถามเกี่ยวกับการจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์” เพื่อแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ อีกทั้ง  เพื่อเป็นการฝึกทักษะอาชีพ พัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน ตลอดจนเป็นการสร้างผู้พ้นโทษให้เป็นผู้ประกอบการใหม่ และเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพในอนาคต ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราการกระทำผิดซ้ำลดลง และคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน 

โดยการสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) และกระจายตัวอย่างทั่วประเทศไทย ดำเนินการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดระดับค่าความเชื่อมั่นร้อยละ 95.00

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการมีนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.89 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 32.86 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 4.02 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย
ร้อยละ 2.99 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 0.24 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามถึงลักษณะของกิจกรรมฝึกวิชาชีพในนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.93 ระบุว่า งานประกอบเครื่องยนต์ รองลงมา ร้อยละ 54.22 ระบุว่า เกษตรกรรม ร้อยละ 53.43 ระบุว่างานผลิตเฟอร์นิเจอร์/งานไม้ ร้อยละ 40.90 ระบุว่า งานเสริมสวย/ตัดแต่งทรงผม และร้อยละ 39.95 ระบุว่า
งานประดิษฐ์/ตัดเย็บเสื้อผ้า

เมื่อถามถึงลักษณะรูปแบบการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.05ระบุว่า การตั้งเป็นโรงงานในพื้นที่ปิด (มีข้อจำกัดในการเข้า-ออกพื้นที่) ร้อยละ 43.58 ระบุว่า ควรเป็นโรงงานพื้นที่เปิดเหมือนนิคมอุตสาหกรรมทั่วไป ร้อยละ 2.05 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และร้อยละ 0.32 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับประเภทของอุตสาหกรรม

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงแนวคิดการมี “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์” จะช่วยให้คนที่เคยกระทำผิด ทำผิดน้อยลงหรือไม่กระทำผิดซ้ำได้หรือไม่ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.44 ระบุว่า ช่วยให้คนทำผิดลดลง/ไม่กระทำผิดซ้ำได้ ร้อยละ 15.84 ระบุว่า ไม่แน่ใจ ร้อยละ 10.24 ระบุว่า ไม่สามารถช่วยลดการกระทำผิดซ้ำได้ ร้อยละ 0.32 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และร้อยละ 0.16 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 49.17 เป็นเพศชาย และร้อยละ 50.83 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 6.69 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 16.39 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.70 มีอายุ 36 – 45 ปี และ 46 – 55 ปี ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 22.38 มีอายุ 56 – 65 ปี และร้อยละ 9.14 มีอายุ 66 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 0.86 จบการศึกษาต่ำกว่าประถมศึกษา ร้อยละ 26.64 จบการศึกษาประถมศึกษา ร้อยละ 13.24 จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 20.88 จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย/ ปวช. ร้อยละ 7.57 จบการศึกษาอนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 26.00 จบการศึกษาปริญญาตรี ร้อยละ 4.57 จบการศึกษาปริญญาโท และร้อยละ 0.24 จบการศึกษาปริญญาเอก ตัวอย่างร้อยละ 23.88 ประกอบอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ 17.10 ประกอบอาชีพพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณ/ว่างงาน ร้อยละ 15.68 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.13 ประกอบอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 14.11 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างร้อยละ 11.58 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้างของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และร้อยละ 2.52 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 14.58  ไม่มีรายได้ ร้อยละ 8.90 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 16.63 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,001 – 10,000 บาท ร้อยละ 26.00 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 12.37 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 14.03 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 30,000 บาท และร้อยละ 7.49 ไม่ระบุรายได้ ตัวอย่างร้อยละ 16.55 มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร้อยละ 9.38 มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคเหนือ  ร้อยละ 27.34 มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคกลาง ร้อยละ 33.18 มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.55  มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคใต้